วิธีป้องกันตัวเอง “โดนดูดเงิน” จากบัญชีธนาคาร ควรทำอย่างไร

วิธีป้องกันตัวเองหลีกเลี่ยงการ “โดนดูดเงิน” สูญหายจากบัญชีธนาคารทางออนไลน์ ควรทำอย่างไร

เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลังจากมีกระแสข่าวโดนล้วงข้อมูล แฮกบัญชี และล่าสุดมีการดึงเงินออกจากบัญชีโดยที่เจ้าของบัญชีไม่รู้ตัว มาร่วมเตรียมตัวให้พร้อมรับมือหาแนวทางการใช้งานธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัยไปด้วยกัน

สาว เตือนภัย ผูกบัญชี ไว้กับแอปช็อปปิ้ง ดูอีกทีเงินหายเกือบหมด
วิธีป้องกันโดนดูดเงิน/สูญหายจากบัญชี

สำหรับแนวทางการป้องกันการถูกโอนเงินออกจากบัญชีเบื้องต้น DirectAsia ได้รวบรวมวิธีป้องกันดังกล่าว เผื่อใครกำลังเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง ก่อนสูญเงินไม่รู้ตัวมาสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมก่อน

1. หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi อินเตอร์เน็ตสาธารณะ

ไม่ใช่อินเตอร์เน็ตทุกที่จะปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรม โดยเฉพาะ Free Wi-Fi ตามคาเฟ่หรือร้านกาแฟ หากมีความจำเป็นเราแนะนำให้ใช้ Virtual Private Network (VPN) เพื่อป้องกันการลักลอบขโมยข้อมูล

2.เปิดระบบแจ้งเตือนของธนาคาร

ในแทบทุกธนาคารจะมีบริการแจ้งเตือนผู้ใช้ เมื่อมีรายการเงินเข้าหรือออก เพื่อให้เรารู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับบัญชีของเราและรับมือได้ทันท่วงทีหากมีรายการที่ผิดปกติเกิดขึ้น

3.ปรับวงเงินในบัญชีบัตรเครดิต

เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินจำนวนมาก ตั้งบัญชีบัตรเครดิต/เดบิตในการทำธุรกรรมในแอปพลิเคชั่นของธนาคาร โดยตั้งวงเงินให้กลายเป็น 0 บาท เมื่อต้องการใช้ซื้อของค่อยเข้าไปเปลี่ยนวงเงินที่ต้องการจะใช้ใหม่ โดยตั้งวงเงินให้พอดีกับการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง

4.ยกเลิกการผูกบัญชีผ่านช่องทางต่าง ๆ

ยกเลิกการผูกบัญชีบัตรเครดิต/เดบิต ไว้กับเว็บไซต์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บออนไลน์ แอปฯช้อปปิ้ง Google play หรือ Apple Store ออกให้หมด

5.ลบบัญชีธุรกรรมจาก Facebook

สำหรับคนที่โดนหักเงินจาก Facebook นำเงินไปจ่ายค่ายิงแอดโฆษณา ให้เข้าไปที่ดูการแจ้งเตือนว่า มีคนดึงบัญชีของเราเข้าไปบัญชีโฆษณาของ Facebook หรือไม่ หลังจากนั้นให้ไปไล่หาชื่อของเรา ตรงบทบาทผูดูแลบัญชี และกดลบผู้ใช้ออกทันที หลังจากนั้นให้ลบบัญชีที่ทำไว้เพื่อทำธุรกรรมผ่านเฟซบุ๊กออก

6.Logout — ลงชื่อออก

เมื่อทำธุรกรรมบนอุปกรณ์ที่ไม่ได้ติดตัวตลอดเวลาอย่าง คอมพิวเตอร์ หรือแล็บท็อป เราแนะนำให้ลงชื่อออกหรือ Logout ออกจากระบบหลังจากทำธุรกรรม เพื่อลดโอกาสที่จะโดนแฮกในระหว่างที่เราไม่ได้อยู่ติดกับอุปกรณ์

7.ใช้การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (Two- factor Authentication)

เราอาจคุ้นเคยกับฟีเจอร์ความปลอดภัยนี้ในชื่อของ OTP หรือ One-Time Password ซึ่งทำหน้าที่ยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชี ด้วยข้อความ SMS หรืออีเมล ซึ่งแม้แฮกเกอร์จะมีทั้งชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ของเราพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าใช้งานได้

8.อายัดบัตรเครดิต/เดบิต และแจ้งความ

เมื่อพลาดไปแล้วสามารถแจ้งไปยังธนาคารเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัตรหรือปฎิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ จากนั้นให้ตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมหลักฐานที่สคัญแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

9.หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์

กรณีที่คนร้ายได้ข้อมูลที่อยู่ด้านหน้าบัตรเครดิต/เดบิต และตัวเลขรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร ทำให้คนร้ายนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ที่มีมูลค่าไม่สูงได้ โดยไม่ต้องใช้ OTP ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก

10. อัพเดตอุปกรณ์ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด

การอัพเดตซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการนอกจากจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆแล้ว ยังเป็นการแก้ไขช่องโหว่หรือข้อผิดพลาดจากเวอร์ชันก่อน หากเป็นไปได้ให้เปิดระบบอัพเดตอัตโนมัติ

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังแนะนำให้ยังประชาชน ควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตรเครดิต/เดบิต หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ ไม่ให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์ได้

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

คลิปอีจันแนะนำ
วูบหลับ ขับรถตกน้ำ “สติ”พาชีวิตรอด