
11 พฤษภาคม “วันปรีดี พนมยงค์” นักกฎหมายผู้มีบทบาทต่อกฎหมายและการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย ท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย
ย้อนกลับไปในอดีต พุทธศักราช 2500 ณ ลำคลองคูเมืองฝั่งด้านใต้ ตรงข้ามวัดพนมยงค์ เมืองกรุงเก่า ได้ต้อนรับการถือกำเนิดขึ้นของทารกน้อยซึ่งมีนามว่า “ปรีดี” ในวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2443
ต่อมา หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายที่ปารีส นายปรีดี พนมยงค์ กลับมาทำงานเป็นผู้พิพากษา และเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย
ภายหลังเมื่อได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีความคิดริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย ผู้สำเร็จชั้นมัธยม ข้าราชการ ทนายความ ผู้แทนตำบล และครู เข้าเรียนได้ ปีแรกที่เปิดสอนมีผู้สมัครถึง 7,094 คน
ทั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสียชีวิตลงบนโต๊ะทำงาน เวลา 11 นาฬิกา ที่บ้านอองโตนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ด้วยวัย 82 ปี ก่อนเสียชีวิต นายปรีดี พนมยงค์ เขียนเอกสารถึงธนาคารเป็นภาษาฝรั่งเศส และพูดคุยกับภรรยา ก่อนจะก้มหน้าแน่นิ่งไป
โดยวันนั้น อนวัช ศกุนตาภัย หลานชายซึ่งกำลังศึกษาแพทย์ปี 4 ที่มาพักอาศัยอยู่บ้านอองโตนี ช่วยพยุงร่างนายปรีดีไปที่เตียงและพยายามปั๊มหัวใจ CPR และหลังจากหน่วยกู้ชีพมาถึงก็พยายามช็อตไฟฟ้าบริเวณหน้าอก แต่ก็ไม่ได้ผล
และ เมื่อแพทย์ประจำตัวมาถึงก็ยืนสงบนิ่งไว้อาลัย และกล่าวแก่บุตรเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า C'est une belle mort ! “เป็นการตายที่งดงาม”
ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านอองโตนีที่ฝรั่งเศส ได้ขายไปแล้ว และเก้าอี้ทำงานตัวประวัติศาสตร์นี้ถูกเก็บไว้กับคุณอนวัช ศกุนตาภัย หลานชายฝั่งภรรยา ผู้ที่เคยปั๊มหัวใจคุณตาปรีดี พนมยงค์
กิจกรรมในวันปรีดี พนมยงค์ ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์ จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นกิจกรรมเพื่อระลึกถึงนายปรีดี โดยเชิญนักคิด นักวิชาการ มาพูดคุยเป็นองค์ปาฐกถา ในปี พ.ศ.2564 เป็นหัวข้อ "การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ คือ การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของประชาชน" นั่นเอง
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันปรีดี_พนมยงค์
https://www.the101.world/117-years-of-pridi-banomyong/