
ช้างป่าดงใหญ่บุกทำลายต้นทุเรียน ไร่มันสำปะหลัง ของเกษตรกร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ แบบรายวัน ได้รับความเสียหายหลายราย บางวันออกมาเป็นโขลง 10-15 ตัว พยายามทำเสียงดังขับไล่ แต่ไม่ได้ผล อาจเพราะเคยชิน คูกันช้างยังเอาไม่อยู่ เดือดร้อนหนัก วอนภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาเพราะบางคนต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน ทั้งให้เร่งหาแนวทางป้องกันไม่ให้ช้างออกมาทำลายพืชสวนพืชไร่เกษตรกร
(30 ม.ค.66) เกษตรกรในพื้นที่ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนัก จากกรณีที่ช้างป่าดงใหญ่ ออกมาหากิน ทำลายพืชสวนพืชไร่ที่ปลูกเอาไว้บริโภคและขายเลี้ยงชีพ ได้รับความเสียหายแบบรายวัน ล่าสุดช้างป่าได้บุกทำลายสวนทุเรียน และมันสำปะหลังของเกษตรกรบ้านฐานเจ้าป่า ตำบลลำนางรอง ทั้งถอนทิ้ง เหยียบหักเสียหายจำนวนมาก แถมยังทิ้งรอยเท้าและขี้เยี่ยวเกลื่อนสวน โดยเฉพาะสวนทุเรียนของนายสถิต และ น.ส.สายยุทธิ์ สองสามีภรรยา ที่เพิ่งปรับเปลี่ยนจากมันสำปะหลัง หันมาปลูกทุเรียน 400 ต้น เพื่อหวังจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ช้างป่ามาทำลาย แต่กลับถูกช้างป่าบุกทำลายเสียหายไปมากกว่า 40 ต้น ถึงกับเข่าทรุดเมื่อเห็นสภาพต้นทุเรียนของตัวเอง
โดย น.ส.สายยุทธิ์ ผู้เป็นภรรยา บอกว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ สปก. แต่อยู่ใกล้กับป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ก่อนหน้านี้ตนกับสามีปลูกมันสำปะหลังเพื่อขายเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ถูกช้างป่าบุกเข้าไปทำลายเสียหายทุกปี จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนหันมาปลูกทุเรียน เพราะเข้าใจว่าเป็นพืชที่ช้างไม่ชอบ จะสามารถเลี่ยงไม่ให้ถูกช้างป่าทำลายได้ แต่พอต้นทุเรียนได้ 6-7 เดือน ก็ถูกช้างป่าเข้ามาทำลาย 2 คืนติดต่อกัน ได้รับความเสียหายไปมากกว่า 40 ต้น จากที่ปลูกทั้งหมด 400 ต้น คาดว่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ทั้งกังวลว่าต้นทุเรียนที่เหลือจะถูกช้างป่าเข้ามาทำลายเพิ่มเติมอีก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีแนวทางป้องกันยังไง เพราะส่วนใหญ่ช้างป่าจะเข้ามาช่วงกลางคืน ซึ่งตนก็ไม่กล้าไปเฝ้าเพราะกลัวจะถูกช้างทำร้าย ส่วนคูกันช้างที่ทางเจ้าหน้าที่ทำไว้ ก็ไม่สามารถป้องกันช้างป่าข้ามเขตออกจากป่าได้ จากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐได้ช่วยเหลือเยียวยา และหาแนวทางป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมาทำลายพืชสวนพืชไร่ของเกษตรกรซ้ำอีก
ด้านนายไพโรจน์ อายุ 53 ปี เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอีกราย บอกว่า ตนเองปลูกพืชหลายอย่างแต่หลักๆ ก็คือ มันสำปะหลังเพื่อไว้ขายเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ถูกช้างป่าบุกเข้ามาทำลายเสียหายทุกปี ไม่ต่างจากปีนี้ มันสำปะหลังอายุได้ 8 เดือน ใกล้เก็บผลผลิตแล้ว ก็ถูกช้างทำลายเสียหายไปจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าก็ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ที่ผ่านมาเกษตรกรพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการจุดประทัดขับไล่ช้างป่า แต่ทุกวันนี้เหมือนช้างป่าเคยชินก็จะไม่กลัวเสียงดัง บางวันออกมา 1-2 ตัว แต่บางครั้งก็มาเป็นโขลง 10-15 ตัว ทำให้เกษตรกรไม่กล้าไปขับไล่เพราะกลัวอันตราย จากปัญหาดังกล่าวก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐได้หาแนวทางป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมาทำลายพืชสวนพืชไร่เกษตรกรด้วย ส่วนที่เสียหายไปแล้วก็อยากจะให้ช่วยเหลือเยียวยาด้วย เพราะลงทุนไปแล้วก็ไม่ได้ขาย