อาจารย์ฟิสิกส์จุฬาฯคำนวณปริมาณสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ทำให้คนตาย

ไม่ต้องตระหนก! ปริมาณสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายมีปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว ชี้ อย่านำไปเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดเพราะปริมาณที่หายมีขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว

กรณีการสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ซึ่งเป็น สารกัมมันตรังสี ใช้วัดพลังงานไอน้ำ จากโรงไฟฟ้าไอน้ำแห่งหนึ่ง ย่าน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.66) มีการแถลงข่าวการตรวจพบฝุ่นแดง หรือฝุ่นโลหะที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในโรงหลอมเหล็ก ทำให้เกิดข้อถกเถียงของประชาชนหลังรับรู้ข่าวเป็นจำนวนมากถึงผลกระทบหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น

สำนักงานปรมาณู ยัน ซีเซียม ควบคุมได้ ไม่ฟุ้งในอากาศ!

วันนี้ (21 มี.ค.66) อีจัน หาคำตอบเกี่ยวกับคำถามที่ยังคาใจในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 มาให้อ่านกัน ทั้งเรื่องปริมาณของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่จะทำให้เกิดอันตราย อายุการสลายหายไปของซีเซียม และวิธีการกำจัดอย่างปลอดภัย

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การคำนวณปริมาณของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายไปตามข้อมูลที่ได้จากข่าว พบว่า มีปริมาณอยู่ที่ 0.5 มิลลิกรัม (ก่อนเผา) หรือเทียบเท่ากับขนาดของเม็ดถั่วเขียว!!!

“มันมีขนาดกระจึ้งเดียว ที่นำมาทดลองในแลปยังใหญ่กว่านี้เลย ถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่เยอะ แต่ก็ควรรู้ และไม่ควรตระหนก”

ดร.สธน บอกว่า มีคนนำการสูญหายของซีเซียม-137 ครั้งนี้ ไปเทียบกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เชอร์โนบิล ที่เกิดระเบิด มันเทียบกันไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าระเบิดมีสารกัมมันตรังสีมากกว่าไม่รู้กี่เท่า ซึ่งทุกคนไปมองว่าเหมือนกับนำสารซีเซียม-137 มาอาบทั้งตัว จะเทียบแบบนั้นไม่ได้

“มีคนนำข้อมูลมาอธิบายว่าสารซีเซียม-137 ปริมาณขนาด 25 ไมโครคูรี่ต่อมวลสารหนึ่งกรัม ทำให้หนูตาย แต่นั่นต้องคำนวณในเรื่องของสารซีเซียม-137 ที่ได้รับ และปริมาณน้ำหนักตัวด้วย”

หากเทียบปริมาณสารซีเซียม-137 ที่จะให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้ ดร.สธน บอกว่า จากข้อมูลข้างต้นต้องใช้สารซีเซียมปริมาณ 25 มิลลิคูรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงจะทำให้เสียชีวิตได้ หรือถ้ามีน้ำหนักตัวคนอยู่ที่ประมาณ 50 กิโลกรัม ต้องใช้สารซีเซียม-137 ในปริมาณ 1.25 คูรี่ ซึ่งมากกว่าสารซีเซียม-137 ที่สูญหายในครั้งนี้ถึง 30 เท่า!!!

นอกจากนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้ได้รับอันตราย ขึ้นอยู่กับการสัมผัสด้วยว่าสัมผัสแบบไหน เช่น แกะสิ่งที่ห่อหุ้มสารซีเซียม-137 ออกมา แล้วกินเข้าไป สารซีเซียม-137 ก็จะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดโดยตรง แต่ถ้าแตะด้วยมือหรือผิวหนัง ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้

การเดินผ่านในระยะที่ไกลไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้ได้รับรังสีที่เกิดจากสารซีเซียม-137 เนื่องจากรังสีบีตามีระยะการแพร่รังสีไกล 5 เมตร ระยะที่ห่างออกไปรังสีบีตาก็จะหมดแล้ว ซึ่งในห้องทดลองใช้เพียงฉากกั้นก็สามารถป้องกันได้ ส่วนรังสีแกมมามีระยะการแพร่รังสีไกลกว่าแต่ลดลงอย่างรวดเร็วไม่กี่เมตร ก็ลดลงในระดับปลอดภัย ซึ่งคนที่จะได้รับอันตรายคือคนที่สัมผัสโดยตรง

กรณีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

ดร.สธน ระบุว่า ถ้านำสารซีเซียม-137 จำนวน 1 หยด หยดลงในน้ำปริมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร ก็จะทำให้สารซีเซียม-137 มีความเข้มข้นเหลืออยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ซึ่งจากข่าวที่นำเสนอออกไปและประชาชนที่อ่านข่าวมีความกลัวเพราะเราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีกันมามากและมีความกลัวอยู่แล้ว

“ในธรรมชาติมีรังสีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากแร่ธาตุที่สลายตัว ซึ่งซีเซียม-137 ถ้าสลายตัวไปในธรรมชาติ การสลายตัวก็จะทำให้ความเข้มข้นต่ำลง”

การสลายตัวของซีเซียม-137 มีดังนี้

ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี

ถ้ามีสารซีเซียม-137 อยู่จำนวน 100 กรัม เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี สารซีเซียม-137 ก็จะสลายตัวไปเหลือในปริมาณ 50 กรัม และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 30 ปี ก็จะสลายตัวอีกจนเหลือ 25 กรัม และอีก 30 ปี ก็จะสลายตัวเหลือ 12.5 กรัม เนื่องจากสารซีเซียม-137 จะลดลงที่ละครึ่งทุกๆ 30 ปี แต่ถ้าเข้าสู่ร่างกายคน ร่างกายเราจะขับออกมาครึ่งหนึ่งในเวลา 70 วัน

แค่ฉากกั้นป้องกันอันตรายจากสารซีเซียม-137 ได้หรือ?

การแพร่รังสีของสารซีเซียม-137 มีระยะค่อนข้างสั้น 5 เมตร ดังนั้นหากอยู่ห่างไป 5-10 เมตร ก็ปลอดภัยแล้ว ซึ่งการมีที่กั้น ไม่ได้ใช้สำหรับกั้นรังสี แต่ใช้กั้นคนไม่ให้เข้าไปใกล้พื้นที่

ส่วนวิธีกำจัดสารซีเซียม-137 คือ การเอาไปเก็บในที่ปลอดภัยจนกว่าจะสลายไป

อย่างไรก็ตาม ดร.สธน บอกว่า สารกัมมันตรังสีไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันของเราไม่เจอ ถ้าเราใช้นาฬิกาเรืองแสงที่มองเห็นเวลาตอนกลางคืนหรือในที่มืด แสงที่ทำให้เรามองเห็นนาฬิกานั้นคือสารกัมมันตรังสี หรือถ้าไม่ใส่นาฬิกาที่เรืองแสง ในที่พักอาศัยที่ติดตั้งเครื่องสโมคดีเทคเตอร์ (Smoke Sensor) หรือ อุปกรณ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ก็มีสารกัมมันตรังสีอยู่ในนั้น แต่มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก

โดยสรุป กรณีนี้แม้ว่าจะควรระวังว่าความผิดพลาดในการจัดการสารรังสีอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ และควรใช้สติในการรับฟังข้อมูลที่มี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับทุกคนว่าอุปกรณ์ไหนมีสารกัมมันตรังสี มีรังสี สามารถสังเกตเครื่องหมายเหล่านี้ได้

ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่เรานำมาให้ทุกท่านได้อ่านกันนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
ปส. แจงประเด็น ซีเซียมที่หายไป แต่คนกลับคาใจกว่าเดิม!