อดีตพนักงาน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเมืองพัทยา ร้องเรียน ถูกเอาเปรียบ!

ร้องเรียนอีจัน! อดีตพนักงานแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเมืองพัทยา ขอความเป็นธรรมถูกบริษัทเอาเปรียบจากการเลิกจ้าง ไม่จ่ายชดเชยตามกฎหมาย

อีจันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณ อ. ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกบริษัทเลิกจ้าง ซึ่งทางบริษัทไม่ได้จ่ายชดเชยให้พนักงานตามกฎหมาย

คุณ อ. เล่าว่า บริษัทที่ทำงานอยู่นี้คือบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชื่อดัง ในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ส่วนตัวคุณ อ. ทำงานในตำแหน่งนักแสดง แผนกแอคชั่น เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ทางบริษัทติดประกาศให้พนักงานทราบครั้งแรกว่า จะปิดกิจการภายในวันที่ 3 มี.ค. ต่อมาวันที่ 29 ก.พ. ได้ทำหนังสือเอกสารเลิกจ้างพนักงาน และทางฝ่ายบุคคลบอกว่าให้พนักงานยังมาทำงานตามปกติจนถึงวันที่ 2 มี.ค. แต่จะไม่ได้เงินในส่วนของวันที่ 1-2 มี.ค.

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ในส่วนของการเลิกจ้าง ทางบริษัทต้องจ่ายชดเชย 1 เดือน ที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่ทางบริษัทเจรจาขอจ่ายชดเชยแค่ 50% ซึ่งตรงนี้ คุณ อ. บอกว่ายังพอเข้าใจ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 มันทำให้ธุรกิจซบเซาลง แต่ต่อมามีเรื่องที่ คุณ อ.เเละกลุ่มเพื่อนๆในบริษัท รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบคือ คุณ อ. และเพื่อนพนักงานมีอายุงานครบ 1 ปีหรือเกิน 1 ปี หากถูกเลิกจ้างก็จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน แต่ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเลิกจ้าง ประมาณ 5 เดือน ฝ่ายบุคคลมีการทำเอกสารสัญญาจ้างใหม่ คุณ อ. และเพื่อนๆก็ต้องเซ็นสัญญาใหม่ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องนับอายุงานตั้งแต่สัญญาฉบับแรก แต่ทางบริษัทกลับนับตามสัญญาฉบับล่าสุดนี้ให้เป็นอายุงานไม่ถึงปี กลายเป็นคุณ อ.และเพื่อนๆก็ไม่ได้รับชดเชย 3 เดือนตามกฎหมาย แต่ได้แค่ 1 เดือน ที่ทางบริษัทก็ขอจ่ายแค่ 50% อีก
ภาพจากอีจัน

คราวนี้สิ่งที่ทางบริษัทเสนอคือ ให้พนักงานเซ็นยินยอมรับเงินชดเชยอายุงานแค่ 1 เดือน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจาก 1 เดือนเป็นแค่ครึ่งหนึ่ง เช่น จากปกติที่ คุณ อ. จะต้องได้รับเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง 4 เดือน แต่กลายเป็นว่าได้แค่ 1 เดือนครึ่ง คุณ อ.และเพื่อนๆจึงไม่ยินยอมเซ็นเอกสารที่บริษัทยื่นข้อเสนอ เนื่องจากเอกสารไม่มีความชัดเจน ไม่มีวันที่ ไม่มีจำนวนเงินที่ระบุว่าจะมีการจ่ายเงินเราอย่างไร เมื่อการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คุณ อ.และเพื่อนๆ จึงรวมกลุ่มกันไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการแรงงานชลบุรี ระหว่างนั้นก็มีมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานหรือคนถูกเลิกจ้างของรัฐออกมา ซึ่งคุณ อ. และเพื่อนๆก็ได้เช็คไปยังสิทธิ์ประกันสังคมด้วยว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับเยียวยาไหม

ปรากฏว่าก็อยู่ในเกณฑ์ตามที่รัฐกำหนด คุณ อ.ก็ใจชื้นขึ้นมาว่า ช่วงที่รอจัดการเรื่องรับเงินชดเชยเลิกจ้างก็ยังพอมีเงิน 5,000 บาท จากรัฐได้ไว้กินไว้ใช้ แต่ปรากฏว่าทางกรมสวัสดิการแรงงานได้โทรไปหาที่บริษัท เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากมีผู้มาร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็คือกลุ่มของคุณ อ. และเพื่อนๆ ต่อมาบริษัทจึงได้ทำหนังสือเอกสารใหม่ ว่า จากเลิกจ้างให้เป็นไล่ออก เนื่องจากขาดงานเกิน 3 วัน ในช่วงวันที่ 16-24 มี.ค. ทางบริษัทจึงไล่ออก ซึ่งข้อมูลนี้ก็ไปเด้งขึ้นที่สำนักงานประกันสังคม ทำให้คุ ณ อ. และเพื่อนๆ กลายเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ เนื่องจากไม่ได้ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ว่างงาน แต่เพราะถูกไล่ออก

คุณ อ. เล่าต่อว่า สิ่งที่ชัดเจนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทเลยคือ การที่บริษัทมาทำเรื่องย้อนหลัง ว่าไล่ออกในช่วง 16-24 มี.ค. นั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อพวกตนถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. และทำงานถึงวันที่ 2 มี.ค. เป็นอันสิ้นสุด ไม่ได้ไปทำงานอีกเลยในช่วงเดือน มี.ค. ตอนนี้นอกจากจะร้องเรียนไปที่กรมสวัสดิการแรงงานชลบุรี ก็ยังได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมชลบุรี และไปยื่นฟ้องศาลด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดผู้บริหารบริษัท หรือบุคคลตำแหน่งหัวหน้าของบริษัท มาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งทางกลุ่มคุณ อ. รู้สึกกลัวว่าเรื่องจะยืดเยื้อ เพราะพวกตนไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออะไรเลยสักช่องทางเดียว

ทั้งนี้ คุณ อ. บอกว่า อยากขอความเป็นธรรมให้กับตัวเองและกลุ่มเพื่อนด้วย เนื่องจากทางบริษัทก็เป็นธุรกิจใหญ่ มีชื่อเสียง มีการประกาศออกสื่อสาธารณะว่าจะยกเลิกกิจการ และรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมาย แต่ความเป็นจริงหลังสื่อ กลับไม่เป็นอย่างนั้น และยังเอาเปรียบลูกจ้างด้วย ตนกลัวว่าเม็ดเงินมันจะทำให้การถูกเอาเปรียบในครั้งนี้เงียบหายไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางความเดือดร้อนของลูกจ้างอีกหลายคน