บีทีเอสแจ้งผู้โดยสาร เผื่อเวลาเดินทางเพิ่มมากขึ้น เลี่ยงแออัด เลี่ยงโควิด-19

ผู้โดยสารบีทีเอส ต้องเผื่อเวลามากขึ้น! หลังบีทีเอสแก้ปัญหาคนแออัด เพิ่มรอบเดินรถ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ จัดระเบียบผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ป้องการแพร่ระบาดโควิด-19

หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรน คนเริ่มกลับมาทำงานและเปิดกิจการตามปกติ ทำให้รถไฟฟ้าบีทีเอสมีประชาชนเข้ามาใช้บริการแน่นสถานี เข้าคิวติดกันไม่มีการเว้นระยะห่าง ทำให้เกิดภาพที่น่ากังวล หากไม่มีการเว้นระยะห่าง อาจทำให้เสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่

ภาพจากอีจัน

ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ค. 2563) เพจเฟซบุ๊ก รถไฟฟ้าบีทีเอส เผยแพร่ภาพขณะที่เจ้าหน้าที่บีทีเอสร่วมกับ เจ้าหน้าที่เทศกิจ กรุงเทพมหานคร อำนวยความสะดวก และจัดระเบียบ ผู้ใช้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า – เย็น เพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างในการเดินทาง (Social Distancing) พร้อมขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ เผื่อเวลาในการเดินทางให้มากขึ้น และสนับสนุนแนวคิดให้ภาครัฐ และเอกชนขยับหรือเหลื่อมเวลาในการทำงาน เพื่อกระจายการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ ลดความเสี่ยง และความแออัดในการเดินทางของประชาชน ขณะที่บีทีเอสยังคงเข้มงวด และเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นฆ่าเชื้อเพื่อสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)

ภาพจากอีจัน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงเข้มงวด และเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น และเช็ดทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟฟ้า และจุดสัมผัสร่วม ภายในสถานี และบริเวณรอบสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ อย่างเต็มที่

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บีทีเอสได้นำรถไฟฟ้าทุกขบวนที่มีอยู่ทั้งหมด 98 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมทั้งหมด 392 ตู้ ออกให้บริการเพื่อรองรับผู้โดยสารอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้การรักษาระยะห่างระหว่างกัน ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด แต่สำหรับการเดินทางที่ไม่ใช่ในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้โดยสารยังคงสามารถรักษาระยะห่างในการเดินทางได้ในระดับปกติ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม เป็นต้นไป
ภาพจากอีจัน

รถไฟฟ้าบีทีเอส ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โดย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร จัดส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ามาทำงาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่บีทีเอส เพื่อช่วยจัดระเบียบ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการในสถานีหลัก 17 สถานี ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้า และเย็นให้สามารถรักษาระยะห่าง และไม่เข้ามากระจุกตัวภายในขบวนรถ, บริเวณชั้นชานชาลา และพื้นที่บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่บริเวณพื้นที่รอบนอกสถานีมากขึ้น

ภาพจากอีจัน

"ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือผู้ใช้บริการให้เผื่อเวลาในการเดินทางให้มากขึ้น เพราะจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น ในการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ นอกจากนี้ แม้บีทีเอสจะนำขบวนรถที่มีอยู่ออกวิ่งให้บริการทั้งหมด แต่การจัดที่นั่งให้มีระยะห่างภายในขบวน หากปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจะทำให้ความจุผู้โดยสารแต่ละขบวนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้ในภาวะปกติเท่านั้น"

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า บีทีเอส สนับสนุนแนวคิดที่ให้มีการบริหารจัดการเวลาการทำงานใหม่ โดยขยับหรือเหลื่อมเวลาในการทำงานของราชการ และบริษัทเอกชน โดยให้เข้าทำงานหรือเลิกงานได้เร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าในภาวะปกติ รวมทั้งแนะนำให้ขยับวันหยุดงานเป็นวันศุกร์ หรือวันอื่นๆด้วยเพื่อกระจายการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยง และความแออัดในการเดินทางของประชาชน ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค บีทีเอสยังมีข้อแนะนำสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยก่อนเข้าระบบรถไฟฟ้าให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่บีทีเอสเตรียมไว้ให้บริเวณโต๊ะตรวจการหน้าทางเข้า – ออกทุกสถานี และต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้ง รวมทั้งในระหว่างเดินทางหรืออยู่ในขบวนรถ พยายามหลีกเลี่ยงการนำมือขึ้นมาจับใบหน้า โดยเฉพาะ จมูก ปากและตา โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ที่มีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการพูดคุยกันภายในขบวนรถ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และก่อนออกจากระบบรถไฟฟ้า อย่าลืมกดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่มีจัดไว้ให้ทุกสถานี ทุกครั้ง

ภาพจากอีจัน

สำหรับผู้ที่รู้สึกไม่สบายหรือมีไข้ขอความร่วมมืองดใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะผู้โดยสารที่มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส รถไฟฟ้าบีทีเอสขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้เข้าระบบรถไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมเดินทาง

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงเข้มงวด และเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น และเช็ดทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟฟ้า และจุดสัมผัสสาธารณะภายในสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง