มช. เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต – ความเป็นอยู่ของช้าง

มช. ช่วยช้าง ช่วยชุมชน กับภารกิจพิทักษ์สัตว์ใหญ่ต่อลมหายใจให้ช้าง

จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรช้างเลี้ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีปางช้างที่เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ก่อเกิดวิถีความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ผูกพันกับช้าง

แน่นอนว่าประชากรช้างมีตั้งแต่วัยแรกเกิดไล่เรียงไปจนถึงช้างแก่มีอายุมาก และที่สำคัญมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง การดูแลสวัสดิภาพช้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ กับภารกิจพิทักษ์ช้าง ถือเป็นบทบาทสำคัญและนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในป่าด้วย เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ หากไม่สบายหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา การนำช้างเข้ามารักษาในเมืองถือเป็นเรื่องยาก

ภาพจากอีจัน

สำหรับชาวบ้านผู้ดูแลช้าง การส่งทีมสัตวแพทย์เข้าไปจึงเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วกว่า ด้วยหวังว่าความช่วยเหลือที่ทันท่วงทีจะต่อชีวิตช้างได้ เช่นเดียวกับการทำงานของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหากได้รับแจ้งจากชุมชนหรือปางช้างก็ต้องรีบไปโดยเร็วที่สุด ไม่เพียงแต่การช่วยชีวิตและรักษาช้าง การวิจัยเพื่อคิดค้นวิธีที่จะช่วยชีวิตช้างในภาวะฉุกเฉินจึงเป็นความท้าทายยิ่งกว่า ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของทีมนักวิจัยที่ตรวจการเข้ากันได้ของเลือดและถ่าย พลาสม่าในช้างครั้งแรกของประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และปางช้างต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และได้นำมาใช้ในการรักษาช้างหลายโอกาส เช่น การรักษาช้างที่ไม่กินอาหารและน้ำเป็นเวลา 20 วัน

ภาพจากอีจัน
การรักษาช้างที่เกิดภาวะสูญเสียเลือดอย่างรุนแรงหลังคลอดลูก การรักษาลูกช้างที่สูญเสียเลือดจากการติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในช้าง เป็นต้น รวมถึงการออกหน่วยพื้นที่เยี่ยมเยือนตรวจดูแลช้าง และให้บริการรักษาช้างที่เจ็บป่วย ตลอดจนการนำเข้าสู่หลักสูตรวิชาการเรียนการสอนคลินิกช้างและสัตว์ป่า เช่น วิชาช้างในวัฒนธรรมไทย วิชาคลินิกปฏิบัติช้างและสัตว์ป่า วิชาพฤติกรรมสัตว์ การควบคุมบังคับสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และปฏิบัติงาน เพิ่มทักษะภายใต้สถานการณ์จริง
ภาพจากอีจัน
ในขณะเดียวกันการที่จะช่วยช้างได้ ไม่ใช่มีเพียงแต่สัตวแพทย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนเลี้ยง ควาญช้าง และผู้ดูแลช้างทุกส่วนด้วย ทางศูนย์ฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับควาญช้างและผู้ประกอบการปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนาวิธีการฝึกช้าง การดูแลช้าง การป้องกันและการแก้ปัญหาเพื่อการเลี้ยงช้างให้ดีอย่างต่อเนื่อง เผยความประทับใจของ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพจากอีจัน
“ความชอบส่วนตัวที่รักสัตว์และรักช้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะช้างเป็นสัตว์ที่น่ารักและฉลาด มีความนึกคิด มีอารมณ์เหมือนมนุษย์ ถ้าจะดูช้างให้ดูที่แววตาของช้าง เราจะเห็นได้ว่าแววตา ณ เวลานั้นเขาบ่งบอกถึงอะไร เขากำลังมีความสุข มีความทุกข์ มีความเศร้า มีความรักและการสูญเสีย ทุกอย่างจะออกทางสายตา เพราะฉะนั้นเวลาผมทำงานกับช้างต้องดูแววตาช้างเป็นองค์ประกอบด้วย เมื่อเราทำงานใกล้ชิดกับช้างกับสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้เคียงกับคน ทำให้เรามีความรู้สึกอยากจะช่วยเขา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเพื่อให้เค้าหายเจ็บปวด รักษาชีวิต และผมมีคติประจำใจคือ ผมทำงานด้วยใจ เราใช้ใจเราทำงาน เราเห็นช้างที่มีลักษณะความเป็นอยู่เช่นนี้ เอาใจเราไปใส่ในใจของช้าง และเราจะรู้สึกว่าเราควรจะทำอะไรเพื่อช้างให้เค้ามีชีวิตอยู่ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมทำงานกับช้างได้จนถึงทุกวันนี้” ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของช้างและขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาชีวิตและเพิ่มปริมาณการอยู่รอดของช้างที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ทั้งในเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับช้างรวมทั้งการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนคนเลี้ยงช้างอย่างยั่งยืนต่อไป