เคลียร์ชัด ! คลินิกถูกยกเลิกสัญญาบัตรทอง ห้ามเก็บเงินผู้ป่วยที่ขอประวัติรักษา

อธิบดีกรม สบส.ย้ำ รพ./คลินิก ที่ถูกยกเลิกสัญญาบัตรทอง ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงประวัติการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

หลังจากที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. แถลงยกเลิกคลินิกอบอุ่นใน กทม. อีก 64 คลินิก ไปเมื่อ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 8 แสนคน จากการยกเลิกสัญญา โดยประชาชนที่ถูกยกเลิกบริการ ระหว่างนี้สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทุกแห่งใน กทม. ทั้งรัฐและเอกชน ที่ร่วมกับ สปสช. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อ่านข่าวเก่า
เปิดรายชื่อ คลินิก-รพ. 64 แห่ง ที่ สปสช. ยกเลิกสัญญาเซ่นโกงบัตรทอง

ภาพจากอีจัน
ล่าสุด วานนี้ (24 ก.ย.63) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ตามที่ สปสช. ได้มีการยกเลิกสัญญาให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นกับสถานพยาบาลจำนวน 64 แห่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องย้ายสิทธิการรักษาไปยังสถานพยาบาลแห่งใหม่ โดยจะต้องใช้เอกสารประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลเดิม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง


แต่กลับพบว่ามีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่า สถานพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญาฯ บางแห่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการขอประวัติการรักษาของผู้ป่วย
 
ตนจึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส. ประสานไปยังสถานพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งหลังจากมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกับสถานพยาบาล ก็ได้มีการติดต่อคืนเงินให้กับผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพจากอีจัน
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า กฎหมายสถานพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วย กำหนดให้สถานพยาบาลจะต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลของตน เมื่อผู้ป่วยต้องการขอรับประวัติการรักษาของตน สถานพยาบาลจะต้องทำสำเนาเอกสารให้กับผู้ป่วยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น โดยกรม สบส.ได้ประสานกับโรงพยาบาลและคลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญาฯ ซึ่งทุกแห่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดทำสำเนาประวัติของผู้ป่วย และจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงประวัติการรักษาด้วยความรวดเร็วและเหมาะสม ทั้งนี้ สปสช.ได้แจ้งแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานพยาบาลทั้ง 64 แห่ง ว่าสามารถขอรับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องไปขอประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลเดิม โดยหน่วยบริการใหม่สามารถเรียกดูประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลของ สปสช.และรับการรักษาต่อได้แต่หากประชาชนพบว่าสถานพยาบาลใดปฏิเสธที่จะให้ประวัติการรักษาสามารถแจ้งสายด่วน กรม สบส. 1426 เพื่อดำเนินการต่อไป