นับวันรอ ! ไทยมีระบบสายไฟใต้ดิน การไฟฟ้านครหลวง เผย ความคืบหน้า หลังดำเนินการมา 36 ปี

การไฟฟ้านครหลวง เผย ความคืบหน้า 36 ปี แห่งความหวัง การ “ เปลี่ยนระบบสายไฟใต้ดิน ” ชี้ เร่งดำเนินการในถนนสายสำคัญ

หลายคนที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ อาจเคยเห็นข้างถนนโล่งๆ ไม่มีเสาไฟฟ้าริมฟุตบาท หรือบางท่านเคยอยากให้ประเทศไทย มีไฟฟ้าฝังใต้ดินเพื่อวามสะดวกและสบายตา

ภาพจากอีจัน
วันนี้ 18 ธ.ค. 63 การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เผยว่า ได้ดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับทัศนียภาพให้สวยงาม เพียงพอมั่นคง และพัฒนาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า เพิ่มความปลอดภัย เพื่อเร่งสร้างมหานครอัจฉริยะ Smart Metro ในพื้นที่สำคัญ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ระยะทางรวม 48.6 กิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์และสว่างอารมณ์ ถนนพิษณุโลก และถนนนครสวรรค์
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ MEA ได้ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเส้นทางที่มีความจำเป็น โดยคัดเลือกตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า สาธารณูปโภคสำคัญ แนวถนนสายหลัก และ นอกจากนี้ การเปลี่ยนระบบสายไฟ จะเลือกเปลี่ยนเส้นทางที่มีความจำเป็น โดยเลือกตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการ ฯ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1. โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทางรวม 128.2 กิโลเมตร ได้แก่ นนทรี ถนนพระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 รัชดาภิเษก-อโศก รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถนนพระราม 4 ถนนวิทยุ พื้นที่เมืองชั้นใน (ถนนสาทร ถนนเจริญราษฎร์ ถนนชิดลม ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง) ถนนอังรีดูนังต์ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียวอ่อน สายสีชมพู และสายสีเหลือง 2. โครงการที่อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ระยะทางรวม 38.8 กิโลเมตร ได้แก่ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเขียวส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง โครงการร่วมกรุงเทพมหานคร (ถนนอรุณอัมรินทร์-ถนนบรมราชชนนี-ถนนพรานนก-ถนนทหาร-ถนนประชาราษฎร์สาย 1 และถนนสามเสน) ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างภายในปี 2563
ภาพจากอีจัน
สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินนั้น MEA “ ได้ดำเนินโครงการครั้งแรกบนถนนสีลม ตั้งแต่ปี 2527 ” ปัจจุบัน รวมระยะทาง 215.6 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงินที่ มติ ครม. อนุมัติ รวมกว่า 69,232.6 ล้านบาท อีกทั้ง MEA ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ Outgoing ที่ ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ลดปัญหาไฟฟ้าดับ สร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กับเมืองมหานครของประเทศไทย
ภาพจากอีจัน
สำหรับหลายคนที่คาดหวังว่า ประเทศของเราจะมีสายไฟฟ้าแบบฝังดิน ต้องจับตาดูต่อไปนะคะ ว่าโครงการจะมีการดำเนินการคืบหน้าอย่างไรบ้าง