จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบปะการังสายพันธุ์ใหม่ของโลก กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อ “ สิรินธรเน่ ”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบปะการังสายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้ชื่อพระราชทาน “ สิรินธรเน่ ” ตอกย้ำท้องทะเลไทยยังสมบูรณ์

การค้นพบครั้งสำคัญของท้องทะเลไทย

ภาพจากอีจัน
รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้ศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการัง ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จนกระทั่งล่าสุด ได้มีการค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ซึ่งอยู่ภายใต้สกุล “Chironephthya” จึงนำเสนอเรื่องเพื่อกราบบังคลทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทราบ และขอทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์ โดยปะการังอ่อนสองชนิดที่ค้นพบใหม่นี้ หนึ่งในปะการังชนิดใหม่นี้ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อชนิดว่า“sirindhornae” (สิรินธรเน่) ซึ่งเป็นชื่อตามพระนามขององค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำหรับปะการังอ่อนอีกชนิดหนึ่งได้ชื่อว่า “cornigera” (คอร์นิกีร่า) โดยชื่อปะการังชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในน่านน้ำไทย ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Zootaxa ในปี 2563 โดยปะการังอ่อนชนิดใหม่ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นปะการังที่หายาก แต่สามารถพบได้ในบริเวณหมู่เกาะแสมสารและที่หมู่เกาะแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่ระดับความลึกตั้งแต่ประมาณ 8 – 19 เมตร ขนาดของปะการังสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ปะการังอ่อนทั้งสองชนิดนี้ชอบอาศัยในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล
ภาพจากอีจัน
สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ การศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการังในน่านน้ำไทย ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกภายใต้ยูเนสโก (UNESCO-IOC/WESTPAC) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพจากอีจัน
ซึ่งทำให้เห็นว่า การค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลกในน่านน้ำไทยนี้ เป็นตัวชี้วัดว่า ใต้ทะเลของประเทศไทยมีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของปะการังอีกมากที่ยังรอคอยการค้นพบและศึกษาวิจัยอีกมาก