เปิดตำนานจากปากทายาท คฤหาสน์ร้าง 100 ปี โผล่กลางป่าเมืองระนอง

คฤหาสน์ร้าง ที่ถูกป่ากลืนมานานนับ 100 ปี ถูกเปิดตำนานเรื่องจริง โดยทายาทสกุลดัง!

ชาวระนองแห่ดูคฤหาสน์เจ้าเมืองระนอง คนที่ 3 ที่ถูกป่ากลืนมานานนับร้อยปี!

ทีมข่าวอีจัน ได้ลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อดูและฟังตำนานสุดน่าทึ่ง ของคฤหาสน์ที่ถูกป่ากลืนมานานนับ 100 ปี วันนี้คฤหาสน์หลังดังกล่าวได้กลับมาตั้งตระหง่าน เฉิดฉายให้ชาวระนองได้เห็นอีกครั้ง

หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า คฤหาสน์หลังโตนี้เป็นของใคร?

นับว่าเป็นโอกาสที่โชคดี ในวันที่ทีมข่าวอีจันได้ลงไปยังพื้นที่ที่คฤหาสน์หลังดังกล่าวตั้งอยู่ แล้วได้พบกับ นายโกศล ณ ระนอง ทายาทรุ่นที่ 5 ของเจ้าของคฤหาสน์หลังดังกล่าว เมื่อสอบถามจึงได้ทราบว่า คฤหาสน์หลังนี้ เป็นของท่านพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือพระยารัตนเศรษฐี หรือมีชื่อจีนว่า “คอ ยู่ หงี่” ซึ่งเป็นอาก๋ง หรือปู่ ของนายโกศล และเป็นเจ้าเมืองระนองคนที่ 3

นายโกศลยังกล่าวอีกว่า คฤหาสน์หลังดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นในปี 2444 เป็นปีที่ท่าน คอ ยู่ หงี่ ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองระนอง ก่อนจะถูกขายต่อให้กับเจ้าของที่ดินคนใหม่หลังจากท่านถึงแก่อนิจกรรม ในปี 2475 โดยผู้จัดการมรดก ขณะนั้นได้ขายที่ดิน 300 ไร่ พร้อมคฤหาสน์หลังนี้ในราคา 3,000 บาท ก่อนจะมีการแบ่งขายที่ดินดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งมีป่าปกคลุมเต็มพื้นที่ ทำให้ผู้ซื้อต้องถางป่าออกให้เตียน จนพบกับคฤหาสน์หลังดังกล่าวตั้งตระหง่านอยู่ในพื้นที่

เมื่อทีมข่าวอีจันสอบถามเรื่องรายละเอียดของคฤหาสน์ นายโกศลบอกว่า คฤหาสน์หลังนี้ สร้างจากรูปแบบชิโน-โปรตุกีส หรือ ชิโน-ยูโรเปียน เมื่อก่อนในตัวตึกนี้ บริเวณชั้นล่างมี 4 ห้องนอน ชั้นบนอีก 4 ห้องนอน และบริเวณพื้นปูด้วยหินอ่อน ซึ่งในยุคนั้นมีมูลค่ามาก การฉาบตัวตึกนี้ ใช้การฉาบแบบก่ออิฐ ซึ่งไม่ใช่การฉาบปูนแต่เป็นดิน เรียกว่า ฉาบสอดิน ซึ่งมีส่วนผสมของดินทรายและเปลือกหอยบดละเอียด ในส่วนของประตู และหน้าต่างของบ้าน เรียกว่า ทรงบัว ซึ่งไม่สามารถหาดูได้ในปัจจุบัน

สำหรับเรื่องราวที่หลายคนกล่าวขานว่า อาจเป็นสิ่งลี้ลับ หลังจากมีคนเคยมีคนเข้ามาเพื่อนำหินอ่อนภายในอาคารออกไป แต่สุดท้ายก็นำกลับมาคืนไว้ที่เดิม หลายคนคาดว่าอาจเกิดจากสิ่งลี้ลับ หรือเกิดจากความรู้สึกผิดก็เป็นไปได้

ด้านนายธนกร สุวุฒิกุล นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ ที่ Department of Local Administration ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของคฤหาสน์หลังนี้ว่า คนระนองที่มีเชื้อสายจีน จะเรียกบ้านทรงนี้ว่า “อังมอเหลา” ซึ่งการก่อสร้างลักษณะนี้ มีมากที่สุดอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 6

ในส่วนของคฤหาสน์ ของเจ้าเมืองระนองนี้ ได้สร้างเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปกับจีน ซึ่งชาวระนองร่วมมือและแสวงหาแนวทางร่วมกัน ในการอนุรักษ์อังมอเหลา รวมทั้งตึกแถวที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบชิโนยูโรเปียนไว้ เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดระนองต่อไป

ในขณะนี้ มีประชาชนที่สนใจ เริ่มทยอยเข้ามาชม คฤหาสน์หลังดังกล่าวนี้ กันไม่เว้นวัน ซึ่งตอนนี้ ทางจังหวัดระนอง ได้ทำแบบจำลองรูปแบบตัวตึก ในนิทรรศการตำนานตึกเก่า ภายในงาน กาชาดงานอาบน้ำแร่ อีกด้วย

การค้นพบดังกล่าว ถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญมากกับชาวระนองค่ะ จันเองที่เห็นคฤหาสน์ยังทึ่งเลย ดูขลังมากๆเลยค่ะ

คลิปอีจันแนะนำ
เรื่องเล่าจากทายาทรุ่นที่ 5 ตำนานคฤหาสน์ร้างร้อยปี! @ระนอง