เปิดประวัติ บิ๊กป้อม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เปิดประวัติ “ บิ๊กป้อม ” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ แห่งบ้าน 3ป. รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลปัจจุบัน

เปิดประวัติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเล่นว่า “ป้อม” จึงได้รับการเรียกขานจากสื่อมวลชนว่า “บิ๊กป้อม” เป็นบุตรคนโตของพลตรี ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ กับนางสายสนี วงษ์สุวรรณ มีน้องชาย 4 คน คือ พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมทีโอที และ พันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ

การศึกษา

พ.ศ. 2505 – โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

พ.ศ. 2508 – โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6

พ.ศ. 2512 – โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17

พ.ศ. 2521 – หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พ.ศ. 2540 – วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 40

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2512 ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3

  • พ.ศ. 2514 ผู้บังคับหมวดเครื่องยิงหนัก กองร้อยเครื่องยิงหนัก กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2517 ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2519 นายทหารยุทธการและการฝึก กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2520 ประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

  • พ.ศ. 2522 นายทหารฝ่ายยุทธการ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2523 รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2524 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2527 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2529 รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2532 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2536 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2539 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

  • พ.ศ. 2540 รองแม่ทัพภาคที่ 1

  • พ.ศ. 2541 แม่ทัพน้อยที่ 1

  • พ.ศ. 2543 ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก

  • พ.ศ. 2544 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ

  • พ.ศ. 2545 แม่ทัพภาคที่ 1

  • พ.ศ. 2546 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 30 กันยายน พ.ศ. 2548 ผู้บัญชาการทหารบก

  • 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550 สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2549

  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

  • 2 เมษายน พ.ศ. 2553 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย

ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับตำแหน่งเป็นคณะดำเนินคดี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีประเทศกัมพูชาฟ้องร้องประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 เขาเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 12 คณะกรรมการ

“ พี่ใหญ่ ”

พี่น้อง 3ป.” เติบโตมาใน “บ้านทหารเสือ” หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ค่ายนวมินทราชินี ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรีเมื่อพี่น้อง 3 ป. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กอดคอแสดงความรักผูกพันอันยาวนานให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ บางกลุ่มได้เห็น

จุดเริ่มต้นที่ บ้าน 3ป.

เมื่อปี 2519 ร.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ยศขณะนั้น) เป็นนายทหารยุทธการ ประจำกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 2 รอ.) มีบ้านพักนายทหารอยู่ภายในซอย 7 ของ ร.21 พัน 2 รอ. (ปัจจุบัน ไม่มีคนพักอาศัย ทางกองพันเตรียมสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์) ขณะนั้น มีนายทหารรุ่นน้องอีก 2 คน ร.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ ร.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน จุดเปลี่ยนในชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 34 (1 ต.ค.2547 ถึง 30 ก.ย.2548)

ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้ช่วยผลักดันน้องรัก พล.อ.อนุพงษ์ ขยับจากผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.ร.1 รอ.) ก่อนขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพภาคที่ 1 ตามลำดับ ก่อนพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตร ได้ดึงตัวให้น้องเล็ก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจาก พล.ร.2 รอ. มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

จนกระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นกำลังสำคัญของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในการทำรัฐประหาร 2549 และในฐานะเป็นประธานเตรียมทหารรุ่นที่ 6 พล.อ.ประวิตร ได้ขอให้เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผลักดัน พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.

ปลายปี 2551 พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีกลาโหม โดย “บิ๊กป้อม” ได้วางตัวน้องเล็ก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก “บิ๊กป๊อก”

ด้วยความเป็น “ทหารการเมือง” ที่มีคอนเนกชั่นกับแกนนำหลายพรรค “บิ๊กป้อม” จึงประคอง “บิ๊กตู่” ให้เป็น ผบ.ทบ.สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตร จะถูกมองว่าเป็น “ทหารการเมือง” แต่ความแนบแน่นของ “พี่ป้อม” กับ “น้องป๊อก” และ “น้องตู่” นั้น ลึกล้ำเกินกว่าคำว่าพี่น้องธรรมดาสามัญ

การวิพากษ์วิจารณ์

กรณีนาฬิกาเพื่อน

ประเด็นการยกมือขึ้นบังแดดของ พล.อ. ประวิตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างรอถ่ายรูปกับคณะรัฐมนตรีใหม่ “ประยุทธ์ 5” เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามว่าเหตุใด นาฬิกาเรือนโตยี่ห้อริชาร์ดมิลล์ (Richard Mille) จำนวน 9 เรือน จึงไม่ปรากฏอยู่ในประเภท “ทรัพย์สินอื่น” ที่มีราคามากกว่าสองแสนบาท ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช ของ พล.อ. ประวิตร เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ ปี 2557

สำหรับข้อมูลจากเอกสารแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ. ประวิตร ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557 นั้น พบว่า พล.อ. ประวิตร มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 87,373,757.62 บาท ประกอบด้วย 1. เงินในบัญชี 53 ล้านบาท 2. เงินลงทุน 7 ล้านบาท 3. ที่ดิน 17 ล้านบาท 4. โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10 ล้านบาท และ 5. รถโฟล์คสวาเก้น (Volkswagen) ครอบครองปี 2543 และไม่พบว่ามีการยื่นชี้แจงในส่วนของบัญชีทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่าเกิน 2 แสนบาทไว้โดยคาดว่า นาฬิกาประดับข้อมือของ พล.อ. ประวิตร น่าจะเป็นยี่ห้อริชาร์ดมิลล์ (Richard Mille) รุ่น RM 029 ราคาอยู่ที่ราวๆ 3.6 ล้านบาท ขณะที่แหวนเพชรก็น่าจะอยู่ที่ราว 5 กะรัตขึ้นไป โดยมูลค่าในตลาดของเพชรเริ่มต้นที่ 4 – 7 ล้านบาท

สื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่กล้าปลด พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า เนื่องจากเขาเป็นมือประสานสิบทิศรู้จักคนในวงการนักการเมืองและทหารตำรวจอย่างกว้างขวางและเป็นพี่ใหญ่ในสาย

อีกทั้งกรณีการแสดงความคิดเห็นภายหลังเหตุเรือล่มในจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2561 พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า “คนจีนเป็นเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เขาทำของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เราจะให้ไปเรียกความเชื่อมั่นได้อย่างไร” ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและนอกประเทศ

ต่อมาหลังเหตุการณ์โจมตีโรงแรมที่ไนโรบี พ.ศ. 2562 เขาให้สัมภาษณ์ว่ามูลเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธโจมตีโรงแรมดุสิตดีทูในเครือดุสิตธานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้นอาจเกิดจากอาหารในโรงแรมอร่อย ส่งผลให้ตอกย้ำภาวะผู้นำ และทำให้มีผู้ไม่พอใจในความคิดเห็นดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ

บทบาทหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ภายหลังวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ มีมติตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมือง เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นจุดร่วมตรงกลางระหว่างนักการเมืองและทหารในการแลกเปลี่ยนอำนาจกัน

ความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐคือการเพิ่มโอกาสส่งขุนศึกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คว้าตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ มาได้ แม้จะเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับสอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือที่เรียกกันว่าระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment MMA) ที่มีจุดเด่นจากการใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ที่เอาผลคะแนนจากบัตรเลือกตั้งไปคำนวณคะแนนให้ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปด้วยกัน

ด้วยระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงเป็นผลให้พรรคการเมืองที่เน้นตัวบุคคลได้เปรียบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “พลังดูด” ของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้การดึงตัว ส.ส.เขตจากพรรคต่างๆ เข้ามา เสียแต่ว่าจะเกิดมุ้งการเมืองในพรรค ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าพรรคจึงต้องเป็น “ผู้มากบารมี” เพื่อทำหน้าที่จัดการกับ “มุ้ง” หรือฝ่ายต่างๆ ภายในพรรคที่ดูดดึงมา

ส่วนคำติดปาก ไม่รู้ ไม่รู้ ก็ไม่รู้ ! ที่ไม่ว่าจะผู้สื่อข่าวหรือประชาชนพูดถึง ก็ไม่ต้องบอกเลยว่าเป็นใครเพราะกลายเป็นคำพูดประจำตัว พล.อ.ประวิตร ไปเสียแล้ว

คลิปอีจันแนะนำ
พระเอก หนุ่มเร่ร่อน ขอบคุณผู้มอบชีวิตใหม่