สธ. ย้ำ การจัดหา วัคซีนโควิด ประเทศไทย ไม่ช้า – ไม่แพง

สธ. แจงข้อเท็จจริงการจัดหา วัคซีนโควิด ประเทศไทย ดำเนินการไม่ล่าช้า แต่ยึดหลักปลอดภัย มีคุณภาพ

จากกรณีที่ประชาชนมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดการจัดหา วัคซีนโควิด ประเทศไทยถึงล่าช้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ (19 มกราคม 2564) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดหา วัคซีนโควิด ของประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ ทั้งการได้วัคซีนล่าช้า ราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน หรือมีการติดต่อบริษัทวัคซีนเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้น

ทาง กระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่า การดำเนินการจัดหา วัคซีนโควิด อาศัยข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจน มีการเจรจากับหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน ยึดหลักคุณภาพและความปลอดภัย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวยืนยันเพิ่มเติมว่า การจัดหาวัคซีนไม่ได้ล่าช้า แต่เริ่มกระบวนการจัดหามาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาศึกษาและติดตามข้อมูล ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย แต่ช่วงเวลานั้นข้อมูลค่อนข้างจำกัดและวัคซีนไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูป จึงต้องมีการคาดการณ์และวางแผน โดยตั้งเป้าในปี 2564 จะหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชากร โดยมาจาก 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแรกผ่านโครงการ COVAX จำนวน 20 % โดยได้มีการเจรจากับโคแวกซ์หลายครั้ง เป็นการประสานหน่วยงานระหว่างประเทศ จึงอาจมีความยุ่งยากในการจองซื้อบางประการ แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและรอความคืบหน้า

ภาพจาก สธ
ภาพจาก สธ
ภาพจาก สธ
ส่วนช่องทางที่สอง การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้สามารถผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 20% ของประชากร และช่องทางที่ 3 จากบริษัทอื่นๆ อีก 10% โดยได้ติดตามผลการทดลองเป็นระยะ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศที่จะมีประโยชน์ในระยะยาว ยืนยันว่าไม่ได้เลือกแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มีการวางแผนล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางตามสถานการณ์ ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา วัคซีน ทั่วไปใช้เวลาราว 10 ปี แต่การนำ วัคซีนโควิด มาฉีดให้คนไทย เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ได้ปรับกระบวนการต่างๆ ให้เร็วขึ้น แต่ยังคงความรอบคอบ โดยวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผ่านกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณา ไม่ดำเนินการไปตามกระแสกดดันหรือทำตามประเทศอื่น ขณะนี้มีบริษัทนำข้อมูลมายื่นขึ้นทะเบียนให้ อย. แล้ว 2 แห่ง โดยแอสตร้าเซนเนก้าก็อยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีการเจรจากับอีก 4 บริษัทเพิ่มเติม ซึ่งต้องนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงกับ อย. ด้วย
ภาพจาก สธ
ภาพจาก สธ
สำหรับราคาของ วัคซีน โควิด ช่วงต้นของการระบาดประมาณการว่าราคาวัคซีนต่อโดสอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท แต่จากการจองซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ จะเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม