
เส้นขาวสลับดำ หรือทางม้าลาย ที่เราเห็นอยู่ตามท้องถนนนับเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้กันระดับสากลทั่วโลก เป็นเครื่องหมายจราจรที่ถูกบังคับใช้ทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้าข้ามถนน เพื่อความปลอดภัยแต่กลับเป็นหนึ่งสิ่งที่ถูกละเลยมากที่สุดทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับทางม้าลายนั้นจะมีประวัติมาศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างไร และทางม้าลายเวอร์ชั่นเก่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันบ้างไหม เราจึงจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับทางม้าลายที่ทุกคนควรรู้กันให้มากขึ้น
ต้องย้อนกลับของการกำเนิดขึ้นของยานพาหนะคันแรกบนโลก Benz Patent-Motorwagen ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งถือเป็น ยานพาหนะที่เปลี่ยนแปลงการจราจร การเดินทาง และการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไปตลอดกาล รถยนต์คันแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1886 โดย คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ (Karl Friedrich Benz) วิศวกรยานยนต์ชาวเยอรมัน
แต่การปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการเดินทางในเวลาต่อมา ได้ควบคู่ไปกับความสูญเสียซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 21 มีคนเดินเท้า นักปั่นจักรยาน นักขี่จักรยาน และผู้ใช้ยานพาหนะเสียชีวิตได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จนในปี ค.ศ.1926 รัฐบาลอังกฤษเริ่มรวบรวมสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นครั้งแรก แต่กว่าทางม้าลายแห่งแรกของโลกจะถือกำเนิดขึ้นก็ล่วงเลยเข้าสู่ต้นทศวรรษ 1930 เหตุผลหลักที่ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นคือความตาย ด้วยที่ว่าถนนหนทางในยุคนั้นยังไม่มีสัญญาณเตือนให้รถหยุด คนในยุคนั้นจึงใช้ชีวิตกันตามมีตามเกิดคนเดินข้ามถนนก็ไม่สนใจรถ รถก็ไม่สนใจคน
กระทั้งเกิดการสูญเสียครั้งแรกจากรถยนต์ชนคนเดินถนนก็เกิดขึ้นที่คริสตัลพาเลซ ทางตอนใต้ของลอนดอนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1896 โดยเหยื่อเคราะห์ร้ายคือนางบริดเจ็ต ดริสคอล (Bridget Driscoll) วัย 44 ปี จากเมืองครอยดอน เมื่อเธอได้ก้าวออกไปบนถนนและรถที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สโดยอาเธอร์ เอดซอลล์ กำลังแล่นรถด้วยความเร็วสูงสุด 4 ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่ออาเธอร์เห็นคนเดินถนน เขาได้สั่นกระดิ่ง ตะโกนเตือนและหักเลี้ยวรถ… แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะบริดเจ็ตที่งุนงงถูกกระแทกและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุไม่กี่นาทีต่อมาจากอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ข่าวดังกล่าวนี้ได้แพร่กระจายออกไปจนสร้างความแตกตื่นให้ทั้งผู้ใช้รถและคนเดินเท้าอยู่พักใหญ่
จนต่อมาสหราชอาณาจักรประกาศบังคับใช้กฎหมายจราจรปี 1934 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า รถต้องจอดให้คนเดินข้ามถนนก่อน พร้อมประดิษฐ์เสาไฟใหม่เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายขึ้นมา โดยเรียกว่า Belisha Beacons ตามชื่อ เลสลี่ ฮอร์-เบลิชา (Leslie Hore-Belisha) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักรผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ ในจุดที่ถูกกำหนดให้เป็นทางข้ามถนนจึงต้องมีเสาไฟนี้ยืนต้นประกบสองฝั่ง หวังให้คนขับรถมองเห็นได้แต่ไกล เพราะบนหัวเสามีโคมไฟ สีเหลืองอมส้ม เป็นจุดสังเกตหลังจากเปิดใช้งานจริง ปรากฏว่าแค่สีของโคมไฟยังโดดเด่นไม่พอและคนขับรถส่วนใหญ่ก็ยังเผอเรอไม่ทันสังเกตเสาไฟเหล่านี้
จนกระทั้งทางม้าลาย (Pedestrian Crossing) ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1934 โดยในตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ มีลักษณะเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวางเหมือนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เพื่อให้คนใช้ข้ามถนน และในปี 1949 จอร์จ ชาร์ลส์เวิร์ธ (George Charlesworth) นักฟิสิกส์และวิศวกรจราจร จึงเสนอให้ทาสีเพิ่มที่ตัวเสา เขาทดลองจับคู่สีทั้ง แดง-ขาว ตามเครื่องหมายกาชาด และคู่สีตรงข้ามอย่าง น้ำเงิน–เหลือง และ ขาว-ดำ สองปีผ่านไป ชาร์ลส์เวิร์ธพบว่า คู่สีขาว-ดำ ให้ผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด เพราะดึงสายตาของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มองเห็นได้ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสีอื่นๆ แต่เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงและข้ออ้างของคนขับรถว่ามองไม่เห็น จึงทาสีขาว-ดำ ลงบนพื้นถนนตรงจุดที่ใช้เป็นทางข้ามด้วย
ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 31 ตุลาคม 1951 บนถนนสายหลักของเมืองสลาวห์ (Slough) เพราะเป็นย่านการค้าและมีผู้คนพลุกพล่านและรถยนต์สัญจรตลอดเวลา ส่วนชื่อเรียกเฉพาะว่า ทางม้าลาย เกิดขึ้นจาก เจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในสมัยนั้น เห็นสีขาว-ดำที่ใช้ทาสลับบนถนนแล้วทำให้เขาอดคิดถึงสีขนของตัวม้าลายไม่ได้ ในภาษาอังกฤษแบบบริติชจึงบัญญัติคำเรียกทางข้ามถนนว่า Zebra Crossing นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงอย่างนั้นทางม้าลายก็ยังจำกัดอยู่แต่ภายในสหราชอาณาจักร ในเวลาเดียวกัน
ด้านสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ป้ายเขียนข้อความ STOP เป็นสัญลักษณ์แทนแล้วบนถนนก็มีช่องทางสำหรับเดินข้ามอยู่แล้ว จึงไม่ได้นิยมทาสีสลับขาวดำแบบทางม้าลายของสหราชอาณาจักร จึงทำให้ทางม้าลายสีขาว-ดำยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งในช่วงยุคล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษ การใช้เส้นทางข้าม หรือ ทางม้าลาย ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ให้สัญญาณคนข้ามถนน และผู้ขับขี่ยานพาหนะ และไอเดียนี้ก็ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก จนกลายมาเป็นทางม้าลายและเป็นที่เข้าใจความหมายทั่วกัน
ด้วยความโด่งดังของ The Beatles (เดอะบีเทิลส์) วงดนตรีร็อกแอนด์โรลจากเกาะอังกฤษ การที่กระแสความนิยมของแฟนเพลงทั่วโลกมีต่อวงเดอะบีเทิลส์ ทำให้ปกอัลบั้มที่ 11 ได้รับความสนใจคือจุดเด่นของอัลบั้มคือภาพหน้าปกที่สมาชิกทั้งสี่คนกำลังเดินเรียงแถวข้าม ถนนแอบบีย์ (Abbey Road) ของกรุงลอนดอน ซึ่งพวกเขานำชื่อถนนมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม ทำให้ภาพทางม้าลายของสหราชอาณาจักรแพร่หลายไปทั่วโลกพร้อมกับอัลบั้มใหม่ของวงเดอะบีเทิลส์ ทำให้หลายๆประเทศต่างเริ่มศึกษารูปแบบทางม้าลายของสหราชอาณาจักร แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศของตัวเอง
ทำให้ทางม้าลายบนถนน Abbey กลายเป็นแลนด์มาร์คจุดท่องเที่ยวที่โด่งดัง ของเหล่าสาวกวงเต่าทอง ทั้งนี้วงเดอะบีเทิลส์ได้เปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมของทางม้าลายไปโดยปริยาย ด้วยความโด่งดังนี้ถึงขั้นที่ทางการได้ขึ้นทะเบียนยกย่องให้ทางม้าลายบนถนนแอบบีย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ในปี 2010 จากการเปลี่ยนโลกทั้งใบให้ได้รู้จักทางม้าลาย
โดยหลายประเทศต่างพยายามสร้างสรรค์ลวดลายบนทางเท้าเป็นของตัวเอง ถึงอย่างนั้นก็เป็นแค่ลายที่ใช้ในพื้นที่จำกัดหรือเมืองใดเมืองหนึ่ง อย่างเช่นลาโกรุญญา (La Coruña) ประเทศสเปน ทาสีทางข้ามถนนเลียนแบบลายของวัว แล้วตั้งชื่อทางข้ามถนนใหม่ว่า (Cow crossing) เพราะวัวเป็นสัตว์เพื่อการเกษตรกรรมของเมือง แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้แค่ปรับลายบนถนนอย่างเดียว แต่ติดตั้งเสาสัญญาณไฟเหนือทางข้ามถนนซึ่งเรียกว่า (Hawk crossing) ตามนกอินทรีที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ แม้แต่อังกฤษเองก็เคยออกแบบลายใหม่และคงยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ Tiger crossing ลักษณะเหมือนทางม้าลายต่างกันแค่สีที่ทา เพราะใช้สีเหลืองสลับสีดำตามสีขนของเสือ
อีกทั้งบางแห่งครีเอทมากเป็นรูปภาพแบบ 3 มิติกันก็มี แต่ที่เด็ดกว่าคือแบบดิจิทัล ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น ได้นำเทคโนโลยีแบบโฮโลแกรม โดยฝังอุปกรณ์ลงบนพื้นถนน เมื่อมีคนเดินข้ามถนน อุปกรณ์นั่นจะยิงแสงขึ้นมาเป็นกราฟฟิกขวางรถไว้ทันที ถึงอย่างนั้นลายที่ได้รับความนิยมที่สุดก็ไม่พ้นลายขวางเท่าม้าลาย (Zebra Crossing)
ล่าสุดกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 ได้เพิ่มอัตราโทษปรับสำหรับการกระทำความผิดที่เป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ก่อให้เกิดความบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิตทั้งกับตัวผู้ขับขี่หรือผู้ใช้ทางคนอื่น ๆ ได้แก่
ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 1,000 บาท)
ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 1,000 บาท)
ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 1,000 บาท)
ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 500 บาท)
ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 500 บาท)
ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (จากอัตราโทษเดิม 500 บาท)
รวมถึงเพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต โดยเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถึงแม้ว่ากฎหมายหรือช่องทางสัญลักษณ์จะมีการควบคุมมากขึ้นเพียงใด คนที่ขาดวินัยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรก็ยังคงมีอยู่จำนวนมาก ฉะนั้นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ เริ่มจากที่ตัวเราเองก่อนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังรอบคอบให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น
ขอบคุณข้อมูล 22september.org , historydaily.org , blackcablondon.net , theguardian , nationalarchives.gov.uk , tweaktown , จราจรทางบก