ราชกิจจาฯ ประกาศเช่าซื้อ”รถยนต์-จยย.” ให้คิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้น-ลดดอก”

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อ “รถยนต์ – รถจักรยานยนต์” เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา คิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้น-ลดดอก”

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังพ้นกำหนด 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ต.ค.65) เป็นต้นไป

โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate แบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat rate) แบบเดิม ทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการผ่อนกู้ซื้อบ้าน-ที่อยู่อาศัย ที่การผ่อนชำระจะลดลงจากเงินต้นที่ลดลงไปด้วย

สำหรับความหมายต่าง ๆ คือ

“รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลหรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง

“รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย เพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง

ค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้” หมายความว่า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าภาษีรถประจำปีเงินเพิ่มเนื่องจากการต่อภาษีล่าช้า ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง (ต่อรายการ) ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ ค่าธรรมเนียมใบแทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถ ค่าปรับเนื่องจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง และค่าเบี้ยประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ” หมายความว่า เงินที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อ เพื่อเป็นค่าติดตามทวงถามหนี้เงินค่างวดเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าติดตามเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับคืนของผู้ให้เช่าซื้อ

“อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด

ที่สำคัญสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ก. ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง สภาพของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ว่าเป็นรถใหม่หรือรถใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว โดยให้มีหน่วยเป็นกิโลเมตรหรือไมล์ รวมทั้งภาระผูกพันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ (ถ้ามี)

ข. ราคาเงินสด จำนวนเงินจอง จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี (Flat Interest Rate) ในการคำนวณผลตอบแทนให้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ และชำระค่างวดต่อๆ ไปภายในวันที่ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้

-กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี

-กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

-กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี

ที่มา : ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565

คลิปอีจันแนะนำ
ช่างภาพชี้แจง! ดราม่ารูปถ่ายงานหมั้น