รัฐบาลเร่งพัฒนายกระดับศักยภาพ สนามบิน ทั่วประเทศ รองรับผู้โดยสาร

รัฐบาลเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และ ส่งเสริมไทยเป็น “ศูนย์กลาง” คมนาคมของอาเซียน

รัฐบาลเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิม พัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับการเดินทางและขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศ ได้มอบหมายกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการสนามบินในประเทศไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ โดยมอบหมายกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการสนามบินในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน ปรับปรุงและขยายพื้นที่การใช้งานของสนามบินนานาชาติคือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภาและสนามบินต่างๆ ในภูมิภาค ให้พร้อมรับการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งทางอากาศเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

“การดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ ในภูมิภาค เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถรองรับการขนส่ง และการเดินทางต่อหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดความแออัด พร้อมเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการดังนี้

1.ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังรองที่ 1 (Satellite 1) เพิ่มหลุมจอดเครื่องบินประชิดอาคารเพิ่มอีก 28 หลุม เปิดให้บริการในปี 2565

2.ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567

3.ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ขยายให้รองรับได้เพิ่มอีกถึง 40 ล้านคนต่อปี จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568

4.ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ

สนามบินดอนเมือง เฟส 3 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ โดยแผนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 ดังนี้

1.ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี เน้นผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก

2.เพิ่มหลุมจอดเครื่องบิน 12 หลุมจอดทางด้านเหนือ

3.โครงการอาคาร JUNCTION BUILDING เพื่อเป็นพื้นที่ร้านค้าและร้านอาหาร

4.งานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือ APM ช่วงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ถึงที่จอดรถด้านใต้

สนามบินอู่ตะเภา ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เสร็จแล้ว เปิดให้บริการไปเมื่อปลายปี 2562 อาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 จะให้บริการได้เต็มศักยภาพในปี 2570 คาดจะมีผู้โดยสารมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี มีแผนเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

ปรับปรุงสนามบินต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อช่วยรองรับและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เช่น

1.สนามบินเบตง จังหวัดยะลา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดใช้งานแล้ว

2.สนามบินนานาชาติกระบี่ มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมปรับปรุงอาคารหลังที่ 1 และ 2 เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี

3.การขยายสนามบินนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ก่อสร้างทางขับ ลานจอดอากาศยานและเสริมผิวทางวิ่งเดิม

4.การพัฒนาสนามบินขอนแก่น ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ให้มีพื้นที่ใช้สอย 28,000 ตารางเมตร ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์หลังใหม่ 7 ชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ข้อมูล : รัฐบาลไทย

คลิปแนะนำอีจัน
คนเคยเลว Ep.1