
อยากขอบคุณธนาคารกรุงไทย นำโดย คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่พาสื่อไปเจอโลกอีกใบ ที่ห่างจากไทย 14 ชั่วโมง การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้เจอหลักฐานที่มีชีวิตจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ว่า “เรา” กับ “เขา” เหมือนอยู่โลกคนละใบ!
โพสต์นี้จะยาวนิดนะคะ เพราะข้อมูลเยอะอยู่ แต่จะสกัดให้สั้นเท่าที่จะทำได้
พี่ๆ กรุงไทยพาเราไปยังประเทศเอสโตเนีย ไปให้รู้ว่าคนที่นั่นเขามีชีวิตด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทำธุรกรรมได้แทบทุกอย่างของชีวิต!!! และเหตุที่ทำได้เพราะเขาเป็น Estonia E-Governance ค่ะ
เข้าช่วงเทศกาลเลือกตั้งของไทยพอดี เผื่อมีพรรคไหนชูนโยบายนี้บ้างนะ ที่เขาทำได้และสามารถพลิกประเทศสู่งสังคมดิจิตอลจนกลายเป็นจุดขายที่คนทั้งโลกต้องหันมามองนี้ การเมืองเค้าต้องสามัคคีกันจริงๆ นะ
เข้าเรื่องสักที สิ่งที่ต้องรู้ คือ
เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้าน e-Governance และDigitalize บริการภาครัฐเป็น e-Service มากถึง 99% ( 99% ทีเดียวนะ)
1.เอสโตเนียปฏิรูปรัฐบาลเป็น Digital Government ที่น่าทึ่ง คือ เอสโตเนียสามารถเปลี่ยนเป็น Digital Government ได้ท่ามกลางวิกฤตคอร์รัปชันและปัญหาขาดแคลนทรัพยากร
หลังจากที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1991
2.เอสโตเนียเป็นประเทศเล็ก มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน ต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูง ไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีประชากรจำนวนมากได้
สถาบันวิจัยด้าน cybernetics จึงหารือร่วมกับรัฐบาลแล้วเห็นตรงกันว่า Digitalization จะช่วยแก้ปัญหานี้
สิ่งสำคัญที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการ Digitalize บริการภาครัฐ คือ พรรคการเมืองต่าง ๆ เห็นไปในทางเดียวกันว่า ประเทศจะต้องพัฒนาด้าน Digital ต่อเนื่องไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลยังร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงมีการปรับกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization ที่มีภาคเอกชนเข้าร่วม
ขณะที่เดียวกัน ในส่วนธนาคารมีการสนับสนุนพัฒนา Computer Literacy ของคนในประเทศ เพื่อรองรับการใช้บริการแบบดิจิทัลด้วย
และปัจจุบัน 99% ของบริการกลายเป็น e-Service มีบริการเดียวที่ยังไม่สามารถทำออนไลน์ได้ คือ การหย่า เพราะติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย
คาดว่า บริการภาครัฐจะเป็น e-Service ได้ 100% ในปี 2024
ตัวอย่าง e-service ที่ให้บริการ คือ
1. การยื่นภาษี บริการแรก ๆ ที่ปรับเป็น e-Service ปัจจุบันสามารถยื่นชำระภาษีได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่คลิก เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูก Prefill มาให้แล้วโดยระบบ จากข้อมูลที่ดึงมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ปัจจุบันคนยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ 90%
2. Internet Voting (i-Voting) ปี 2005 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเลือกตั้งระดับประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อดีของการเลือกตั้ง Online คือ สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการจัดคูหาเลือกตั้ง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ไม่มีสถานทูต นอกจากนี้ ยังช่วยลดเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง เพราะเลือกตั้งซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะปิดให้เลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา มีคนเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด สาเหตุที่คนยังออกมาเลือกตั้งที่คูหาแบบเดิม อาจเป็นเพราะเอสโตเนีย เพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราช และการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัว อีกทั้งคนบางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้ง Online ไม่ปลอดภัย
อีกสิ่งที่สำคัญคือ เอสโตเนีย มี Data Tracker ฟีเจอร์ที่โดดเด่นสร้างความโปร่งใส เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลสามารถดูได้ว่า ข้อมูลของเราถูกหน่วยงานใดเรียกดู และหากมีสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที
สามเสาหลักที่เป็นรากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย คือ Confidentiality Availability และ Integrity
เสาที่หนึ่ง Confidentiality คือ การที่คนสามารถยืนยันตัวตนผ่าน e-identification ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่า ข้อมูลต่าง ๆ เป็นความลับ ปัจจุบันมี “อุปกรณ์” ในการยืนยันตัวตน 3 รูปแบบ คือ 1) บัตรประชาชนที่มี chip 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่าง ๆ PIN 2 ใช้ในการลงนาม Digital Signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษ มีผลผูกพันทางกฎหมาย
ปัจจัยที่ทำให้ e-Identity ในเอสโตเนียประสบความสำเร็จ คือ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนมี Digital Identity โดยให้มาพร้อมกับบัตรประชาชน นอกจากนี้ รัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำ e-Identity ไปใช้ในการยืนยันตัวตน ทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารที่นำไปใช้ยืนยันตัวตนลูกค้า เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ e-Identity เทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนออนไลน์ คือ Splitkey ของ Cybernetica ซึ่งทำให้คนสามารถใช้มือถือและแท็บเล็ตในการลงนาม Digital Signature
เสาที่สอง คือ Availability หมายถึง ข้อมูลต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยสิ่งที่สนับสนุนสิ่งนี้ คือ X-Road พัฒนาโดยบริษัท Cybernetica X-road เป็น Secure Data Exchange Infrastructure ที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้อย่างปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่ง โครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลของเอสโตเนียเป็นแบบ Decentralized คือ แต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของตนเอง เมื่อหน่วยงานอื่นต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทำให้ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซ้ำในสองที่ (Once-only Principle) มั่นใจได้ว่า ข้อมูลถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลที่อยู่จะถูกจัดเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์เพียงที่เดียว หากหน่วยงานอื่นต้องการทราบว่า บุคคลนี้อาศัยอยู่ในเมือง Tallinn หรือไม่ สามารถดึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ โดย e-Service ของหน่วยงานอื่น จะถามมาที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ว่า บุคคลนี้อาศัยอยู่ใน Tallinn หรือไม่ และได้รับคำตอบเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการตอบคำถามเท่านั้น (Need-to-know Basis) หากมีการย้ายบ้าน ก็แจ้งย้ายบ้านกับทะเบียนราษฎร์เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องไปแจ้งหน่วยงานอื่น ๆ โดยข้อมูลจะถูกส่งผ่าน X-road แต่ X-road ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนก็จัดเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลผ่าน X-road เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร มหาวิทยาลัย ฯลฯ
เสาที่ 3 คือ Integrity หรือ ความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูล จึงมีการนำ KSI Blockchain ที่บริษัท Guardtime ให้กับรัฐบาลเอสโตเนีย มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ Sensitive Data การพัฒนา KSI Blockchain มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เอสโตเนียโดน Cyberattack ในระดับประเทศ จึงต้องหาวิธีรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมี Data Embassy คือ การ Back Up ข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลหายไป หรือเกิด Cyberattack
ผลของการเป็น Estonia E-Governance :
เอสโตเนียกลายเป็นแหล่งรวม Start-up ของโลกเห็นได้จากการที่เอสโตเนียเป็นประเทศที่มี Start-up per Capita สูงที่สุดในโลก มี Unicorn per Capita สูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยเหตุที่รัฐบาลทำให้เอสโตเนียมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ มี Ease of Doing Business ในระดับสูง เช่น สามารถตั้งบริษัทได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีโครงการ e-Residency คือ การที่คนต่างชาติมาสมัครเป็นพลเมืองของเอสโตเนีย
และตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนีย บริหารจัดการบริษัทได้แบบออนไลน์ 100% ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับรัฐบาล ทำให้เข้าถึง European Single Market โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เอสโตเนีย
โครงการ e-Residency เอสโตเนียได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษี ชดเชยภาษีที่เก็บได้น้อยลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงเกิดการสร้างงานทางอ้อมภายในประเทศ และมีการใช้จ่ายหรือใช้บริการบริษัทอื่น ๆ นอกจากนี้ เอสโตเนียยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดึงดูด โดยยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่นำกลับมาลงทุนต่อ รวมทั้งชุมชน Start-up สนับสนุนกันและกัน แบ่งปันความรู้กัน เนื่องจาก Start-up ในเอสโตเนีย
ไม่แข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ เพราะต่างมีตลาดของตนเองในต่างประเทศ
ในอนาคต เอสโตเนียมีแนวทางพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้
• รัฐบาลต้องการเป็น Proactive Government ที่จะนำบริการหรือสิทธิที่ประชาชนแต่ละคนพึงได้รับไปยื่นให้กับประชาชนโดยไม่ต้องมาสมัคร เพราะประชาชนบางคนก็ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการใดบ้าง เช่น เมื่อคลอดลูก โรงพยาบาลจะแจ้งเกิดให้ พ่อแม่ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร จะได้รับข้อความให้เลือกบัญชีที่จะรับเงินทันที โดยไม่ต้องไปแจ้งกับหน่วยงานที่ให้สวัสดิการเองว่าตนเองมีลูกแล้ว เป็นต้น
• นำ AI Chatbot มาช่วยในการโต้ตอบกับประชาชน ให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐ พัฒนา Speech Recognition เพื่อให้สามารถคุยกันได้โดยใช้เสียง ทำให้คนที่มีปัญหาไม่สามารถพิมพ์โต้ตอบ สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม
• ใช้งานระบบต่าง ๆ ในต่างประเทศได้ (Cross-border Digitalization) ซึ่งในปัจจุบันใช้ได้แล้ว เช่น e-Prescription สามารถให้หมอที่หาประจำออกใบสั่งยาให้ และแสดงบัตรประชาชนซื้อยาในฟินแลนด์ได้ เป็นต้น
• ทำ Personalized Medicine คือ การนำข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางพันธุกรรมมาประมวลผล เพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนในการป้องกันโรค ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาโรค
• มุ่งสู่ Green ICT ด้วยการหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์ในการลด Carbon Footprint ที่เกิดการจากจัดเก็บข้อมูลและดำเนินการด้านดิจิทัล
การเรียนรู้การปรับตัวในการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประเทศไทย เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากในประเทศเอสโตเนีย