
วันนี้ (20 ก.พ. 66) เวลา 10.00 น. นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เข้าแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล จำนวน 27 ลำ ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน โดยมี พ.ต.อ.อนันต์ วรสาตร์ ผกก.สน.บางเขน เป็นผู้รับเรื่องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยตนเอง
สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 ม.ค.66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเปีะ จ.สตูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านกว่า 200 คน
ซึ่งขณะลงพื้นที่ได้ตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่กำลังลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประสานข้อมูลกับกรมประมง ตรวจสอบกรณีเรือประมงที่ลักลอบเข้าไปทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
จากการตรวจสอบ พบว่ามีเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 27 ลำ เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในช่วง ธ.ค. 65 ถึงวันที่ 22 ม.ค. 66 จึงได้นำข้อมูลในระบบติดตามเรือประมง (VMS) ที่เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พร้อมทั้งเส้นทางการทำประมงของเรือประมงจำนวน 27 ลำ มาตรวจสอบพบว่าจุดที่มีการทำประมงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ข้อหา ได้แก่
1.ฐาน ร่วมกันกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2. ฐาน ร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าอกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3. ฐาน ร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4. ฐาน ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
5. ฐาน บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
อย่างไรก็ตาม เรือประมงทั้ง 27 ลำ มีขนาดระหว่าง 40-113 ตันกรอส มีความผิดเกี่ยวกับการเข้าไปล่าสัตว์ (จับสัตว์น้ำ) ในเขตพื้นที่อุทยาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท