
หลังจากวานนี้ (3 ต.ค.66) เกิดเหตุระทึก เด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนทำให้นักท่องเที่ยวแตกตื่นหนีตายกันจ้าละหวั่น และมีนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย ซึ่งมีสัญชาติจีน และเมียนมา เสียชีวิต
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำเอาหลายคนแห่วิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ บางคนถึงขั้นอยากให้ผู้ก่อเหตุรับโทษถึงตาย และให้ทางครอบครัวออกมารับผิดชอบถึงที่สุดเลยค่ะ แต่ในมุมของกฎหมายนั้น สำหรับกรณีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำผิด กฎหมายเห็นว่าเด็กอาจมีความรู้สึกผิดชอบอย่างจำกัด ไม่เหมือนกับกรณีที่ผู้ใหญ่เป็นผู้ทำความผิด
ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงกำหนดเรื่อง ความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในบางกรณีแม้การกระทำของเด็กจะเป็นความผิด แต่กฎหมายอาจไม่เอาโทษเลยก็ได้ ‘อีจัน’ ได้รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้มาฝากกันค่ะ
ประมวลกฎหมายอาญาหมวด 4 ความรับผิดในทางอาญา มาตรา 73-76 มีการกำหนดเอาไว้ว่า ถ้าผู้ก่อคดีอาญาเป็นเยาวชนจะต้องได้รับโทษที่ต่างกับผู้ก่อเหตุที่บรรลุนิติภาวะ ดังนี้
1. อายุไม่เกิน 7 ปี มาตรา73 ไม่ต้องรับโทษ
2. อายุระหว่าง 7-14 ปี มาตรา 74 ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจดำเนินการ ดังนี้
- ว่ากล่าวตักเตือน
- เรียกบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาตักเตือนด้วย
- วางเงื่อนไขให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุตลอด 3 ปี และถ้ายังก่อเหตุร้ายอีก บิดามารดาจะถูกปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท
- ถ้าอยู่กับบุคคลอื่น ศาลจะเรียกบุคคลนั้นมาสอบถามว่าจะยอมรับเงื่อนไขของศาลหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับศาลจะสั่งให้นำตัวเด็กให้องค์กรที่เกี่ยวข้องไปดูแล
- ส่งตัวไปอบรม
3. อายุระหว่าง 14-17 ปี มาตรา 75
- ถ้าศาลเห็นว่าแยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่ได้ ก็ให้ทำตาม ม.74
- ถ้าศาลเห็นว่าควรลง โทษ ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง
4. อายุระหว่าง 17-20 ปี มาตรา 76 ลดความผิดลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ก็ต้องติดตามต่อไปค่ะว่า การดำเนินคดีในกรณีเด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนมีคนเสียชีวิตนี้จะเป็นอย่างไร หากมีความเคลื่อนไหว ‘อีจัน’ จะมาอัปเดตให้ลูกเพจได้ทราบทันทีค่ะ
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก: เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand