ข้อควรรู้และการปฏิบัติที่ดีเมื่อถูก งูกัด

ข้อควรรู้และการปฏิบัติเมื่อถูก งูกัด ล้างความเชื่อแบบเดิมๆ ห้ามดูดพิษหรือขันชะเนาะ เด็ดขาด !

ระวังสักนิดสำหรับช่วงนี้เกิดฝนตกชุกน้ำท่วม ไปไหนมาไหนก็ต้องระวังสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ด้วย โดยเฉพาะ “งู” งูมักเลื้อยเข้าบ้านและไปอยู่ตามจุดอับอาจเป็นที่นอนของเราหรือในรองเท้าเพื่อหาความอบอุ่น สำหรับผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น อย่างไร

1. สติต้องมาก่อน อย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัดบางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจได้รับพิษ เพราะบางครั้งงูพิษกัด แต่ไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีทีได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง

2. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ คือ กรีดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล ประคบน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย เช่น เพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล

3. เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด การเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัด เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึด หรือผ้าสะอาดพับทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก หรือข้อมือ ข้อเท้าซ้น

4. ไม่ควรทำการขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตายอาจส่งผลร้ายกว่าเดิม

5. ห้ามดูดแผลบริเวณที่งูกัดเด็ดขาด คุณอาจจะเคยได้ยินมานานแล้วเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการดูดพิษงูออกจากแผลที่โดนงูกัด ในความจริงแล้ว การดูดในบริเวณที่โดนงูกัดนั้นแทบจะไม่ได้จำกัดพิษงู ออกไปจากร่างกายเลย ทั้งยังอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณที่โดนงูกัดอีกด้วย ในปัจจุบันนั้นไม่จัดว่าการดูด พิษงู ออกจากแผลนั้นเป็นวิธีการรักษาผู้ถูกงูกัดอีกแล้ว

6. นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด ระหว่างการนำส่ง ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางอย่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ

เมื่อถึงมือหมอ การรักษา ?

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือด บางรายยังไม่มีอาการของพิษ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงต้องสังเกตอาการต่อจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย การให้เซรุ่มต้านพิษงูมีประโยชน์ แต่ก็เสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูมีพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสมเซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออกให้ดีขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะได้เซรุ่มแล้ว บางรายอาจยังเกิดเนื้อเน่าตายหรือไตวายต่อมาภายหลังได้ จึงอาจต้องอาศัยการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดตัดเนื้อตายออก การให้สารน้ำหรือการล้างไต เพื่อป้องกันและรักษาภาวะไตวาย เป็นต้น

ทั้งนี้ งูพิษที่คนถูกกัดบ่อย ๆ นั้นมีอยู่ 7 ชนิด คือ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ซึ่งเราสามารถจำแนกพิษของงูได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. พิษต่อระบบประสาท ได้แก่ พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ลืมตาไม่ได้ กลืนลำบาก เสียชีวิตได้

2. พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด

3. พิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษงูทะเล ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย

4. พิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ พิษงูเห่า งูจงอาง ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น น้ำลายมากกลืนลำบาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ

ขอบคุณข้อมูล สสส. , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาติไทย , โรงพยาบาลกรุงเทพ , สถานเสาวภา ,

คลิปแนะนำอีจัน
นาทีสลด แผ่นปูนสะพานกลับรถหล่นทับรถ