“ซีเซียม-137” สูญหาย ที่ จ.ปราจีนบุรี สัมผัสนานเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ทำความรู้จัก “ซีเซียม-137” ประโยชน์และโทษ ส่วนกรณี “ซีเซียม-137” สูญหาย ที่ จ.ปราจีนบุรี ปลัด สธ. สั่งเตรียมผู้เชี่ยวชาญและรพ.รองรับหากมีผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพ

น่ากลัวมาก! กรณีวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย

เนื่องจาก สารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย

หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันที่ 14 มี.ค.66 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) สูญหาย ว่า อาจมีผู้ที่ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตราย หากมีการสัมผัสนานและมากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยรวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

รวมทั้งเตรียมการประสานโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลรามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี นอกจากนี้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้วย

รู้จัก ซีเซียม-137 (Caesium-137) หรือ Cs-137

ซีเซียม เป็นธาตุลำดับที่ 55 มีสัญลักษณ์ทางเคมี Cs พบในธรรมชาติ มีลักษณะเป็นโลหะซึ่งมีทั้งแบบเสถียรและไม่เสถียร ซึเซียทมเป้นคำที่มาจากภาษาลาติน ซึ่งหมายถึงสีน้ำเงิน (ท้องฟ้า) ซีเซียมที่อยู่ในรูปของกัมมันตรังสีที่รู้จักกันมาก คือ ซีเซียม-137 มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความแรงรังสีสูง

ซีเซียม-137 นำมาใช้ทางอุตสาหกรรม อะไรบ้าง?

-ใช้สำหรับเครื่องมือวัดความชื้นและความหนาแน่นที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

-ใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี

-ใช้เป็นเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ, เครื่องวัดการไหลของของเหลว, เครื่องวัดความชื้น

-ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน

-ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง

ลักษณะของ ซีเซียม-137

ซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง สภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้ ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสกับผลซีเซียม-137 นั้น อาจได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือการหายใจ และรับประทานเข้าไป เมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่างๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของอวัยวะที่ซีเซียม-137 เข้าไปสะสมอยู่

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

https://www.oap.go.th/images/documents/resources/media-library/newsletters/oaep-_newsletter_vol.17_no.2.pdf

https://www.oap.go.th/pr/9127-137-cs-137