
หลังจากที่มีรายงานข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกกฎกระทรวงใหม่กำหนดให้ผู้ที่มียาเสพติดหรือยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด และไม่ต้องติดคุกนั้น จนเกิดกระแสสังคมตั้งคำถามว่า จะไม่เป็นช่องโหว่ให้กับผู้ขายตัวจริงหรือไม่นั้น
ล่าสุด พล.ต.ท. ภาณุภัทร หลักบุญ ผช.ผบ.ตร. และ รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ให้ความเห็นถึง กรณีกฎกระทรวงใหม่ยาบ้า 10 เม็ด ไม่ต้องติดคุก ที่กำลังจ่อชงเข้า ครม. ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า "สำหรับประมวลกฎหมายอาญายาเสพติดฉบับใหม่ปี 64 นี้ จะเป็นการให้โอกาสตัวผู้เสพได้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น เดิมทีก่อนหน้านี้ในประมวลกฎหมายอาญายาเสพติดฉบับเก่า การจับกุมผู้ที่มียาเสพติดแม้มีแค่เพียง 1 เม็ด ก็จะถูกส่งตัวดำเนินคดีในทันที ทำให้ทุกคนที่ถูกจับก็จะถูกส่งเข้าเรือนจำทันทีซึ่งภาครัฐเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแล"
"หากว่ากันตามจริงคงไม่มีใครอยากเสพยาเสพติด แต่ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความยากจน และครอบครัว ซึ่งประมวลกฎหมายใหม่ ก็จะเป็นการให้โอกาสคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดมากขึ้น ทีนี้ก็เลยต้องมาดูว่ามียาบ้าจำนวนกี่เม็ดถึงจะเป็นผู้เสพ ซึ่งก็จะถูกกำหนดโดย รมว.กระทรวงสาธารณสุข ออกเป็นกฎกระทรวง และก็ได้มีการประชุมกับหลายหน่วยงานก่อนจะตกผลึกมาที่ 10 เม็ด"
"ส่วนทำไมต้อง 10 เม็ด ไม่เป็นจำนวนอื่นนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการนำตัวผู้เสพมาสอบถามส่วนใหญ่ 1 คน จะเสพยาบ้า 1-3 เม็ดต่อวัน บางคน 1-7 เม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งในยาบ้า 1 เม็ด จะมีสารแอมเฟตามีน 10-20 มิลลิกรัม และต้องมาดูต่อว่า สารแอมเฟตามีนปริมาณแค่ไหนจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เช่น ผู้เสพใช้ยาเสพติด 1-3 เม็ด จะมีสารเสพติดประมาณ 10-30 มิลลิกรัม อาการก็จะผ่อนคลาย อยู่ไม่นิ่ง ควบคุมตัวเองได้ ยังไม่กระทบกับสังคม แต่ถ้าเริ่มเสพ 10 เม็ดขึ้นไป จะมีสารเสพติดในร่างกายสูงถึง 100-200 มิลลิกรัม อาการก็จะหวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน ก้าวร้าว บางรายอาจเสียชีวิต ซึ่งในมิติทางการแพทย์คุณหมอจึงให้คำจำกัดความผู้เสพไว้ที่ 10 เม็ด"
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่หลายคนให้ความสงสัยว่า ถ้ามียาเสพติดไม่ถึง 10 เม็ด แต่จริงๆ แล้วเป็นผู้ขายไม่ใช่ผู้เสพ พอกฎกระทรวงออกมาแบบนี้ ก็จะถูดปัดเป็นแค่ผู้เสพหรือไม่นั้น พล.ต.ท. ภาณุภัทร กล่าวต่อว่า "จริงๆแล้วต้องดูที่พฤติกรรม และรายงานการสืบสวนประกอบซึ่งก็จะพอบอกได้ว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ขาย เช่น ถ้ามียาบ้า 2 เม็ด แต่บอกว่ามีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้มีไว้ขายนั้น ก็ต้องมาตรวจสอบในรายงานการสืบสวน และรายงานพฤติกรรมว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เดิมทีเส้นแบ่งระหว่างการครอบครอง กับครอบครองเพื่อ ซึ่งในกฎหมายเก่าไม่ได้พูดถึงเรื่องเสพ ระบุเพียงแค่ว่า มีเกิน 15 เม็ด ให้ดำเนินคดีฐานครอบครองไว้จำหน่าย ส่วนถ้ามีต่ำกว่า 15 เม็ด ให้ดำเนินคดีฐานถือว่ามีไว้ครอบครอง แต่กฎนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับใหม่เน้นให้โอกาสผู้เสพได้มีที่ยืนในสังคม เราต้องให้โอกาสเขา ซึ่งบางทีเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจากสภาพแวดล้อม และปัญหาสังคมต่างๆ"
"สำหรับขั้นตอนหลังจากเจอตัวผู้ที่เสพจริงและครอบครองน้อยกว่า 10 เม็ด ก็ต้องตรวจสอบว่าไม่มีคดีอื่นๆ ติดตัว ตำรวจก็จะมีการบันทึกปากคำ และส่งตัวให้สาธารณสุขเพื่อคัดกรอง ว่าอยู่ในขั้นตอนไหน เข้าสถานพยาบาล ดูแลโดยพยาบาล หรือพักฟื้นได้ ทุกอย่างจะอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่ขั้นตอนสุดจะถูกส่งไปศูนย์ฟื้นฟูทางสังคมเพื่อให้เขาออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้ มีงาน มีอาชีพทำมาหากิน ส่วนผู้ที่มียาบ้าไม่ถึง 10 เม็ด แต่แอบอ้างว่าแค่เสพ หากเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้วหลบหนี ก็จะถูกตามจับพร้องส่งดำเนินคดีทันที ส่วนความกังวลที่ว่ากฎหมายดังกล่าวจะเปิดช่องโหว่ให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย เอื้อประโยชน์กับผู้ต้องหาไม่ให้เป็นผู้ค้าหรือไม่ บิ๊กหลวง เผยว่า นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องกำกับดูแลกันเองอย่างเข้มงวด"