
วันนี้ (5 ม.ค.66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า องค์การอนามัยโลก เปิดข้อมูลว่ามีคนจมน้ำเฉลี่ยปีละ 3.6 แสนคน โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนกว่า 1.45 แสนคน และเป็นสถิติอันดับ 2 ของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 - ปี 2563) ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำกว่า 3.6 หมื่นคน เฉลี่ยปีละ 3,614 คน และเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 780 คน ส่วนในปี 2564 อีก 658 คน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากกการชักชวนไปเล่นน้ำ และพลัดตกมากที่สุด
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย กรมพลศึกษา ได้มีการดำเนินโครงการ “เด็กไทยว่ายน้ำได้” เพื่อให้เด็กมีทักษะในการว่ายน้ำเบื้องต้นที่ถูกวิธี และสามารถเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ รวมถึงการรู้หลักการใช้อุปกรณ์ในการช่วยชีวิตอย่างถูกวิธีได้
ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าร่วมโครงการแล้ว 9,211 คน โดยทางกรมพลศึกษา ได้เสนอแนวทางการลดปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแนวทางที่ได้รับการพิจารณาทั้งหมด 5 ข้อไปใช้คือ
1. กระทรวงศึกษาธิการ ควรบรรจุหลักสูตรการเรียนว่ายน้ำขั้นพื้นฐานเป็นวิชาบังคับในสถานศึกษา ที่มีความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ ส่วนสถานศึกษาที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และอุปกรณ์ ให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดซื้อสระว่ายน้ำเคลื่อนที่ได้น้ำมาให้เด็กเรียน
2. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องร่วมมือกันจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการจมน้ำของเด็กและเยาวชน ในรูปแบบสื่อต่างๆ
3. กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง ครู และประชาชน ในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในการจมน้ำ
4. กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดเป้าหมายและมาตรการในการส่งเสริม ให้เด็กและเยาวชน มีทักษะ ในการป้องกันการจมน้ำ และต้องมีการติดตามและประเมินอย่างต่อเนื่อง
5. มีการร่วมกันวางแผนและกำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย สำหรับเด็กและเยาวชน
ด้านรัฐบาล ยังขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต พร้อมทั้งขอให้ส่งเสริมเด็กได้มีทักษะการว่ายน้ำ และสามารถเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้ ในส่วนของรัฐบาลจะมีการบูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียจากการจมน้ำอีกต่อไป