“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ที่เคารพนับถือของชาวพุทธฯ

ประวัติ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เเดนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ความสำคัญเเละศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ พ.ศ. 2357 พระสมณทูตไทยนำหน่อ 6 ต้นกลับมาปลูกที่ไทย

“ต้นพระศรีมหาโพธิ์”

ที่สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันนี้ มี 3 ต้น คือ

1.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ที่ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

เป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งยืนต้นอยู่เหนือพระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์

ในปัจจุบันนี้นับเป็น “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หน่อหรือต้นที่ 4 เป็น 1 ใน 2 หน่อที่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 3 ที่ล้มตายไป โดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้บำรุงดูแลปลูกหน่อหนึ่งไว้ที่บริเวณต้นเดิม อีกหน่อหนึ่งแยกนำไปปลูกไว้ในที่ไม่ไกลจากต้นเดิมทางด้านทิศเหนือ ห่างกันประมาณ 250 ฟุต

ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ทั้ง 2 ต้นยังคงยืนต้นอยู่ มีอายุยืนถึงปัจจุบันนี้กว่า 137 ปี (นับจากเริ่มปลูกประมาณระหว่างปี พ.ศ. 2423-2560) ได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา แดนตรัสรู้ โดยตรงเป็นครั้งแรก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร และวัดอัษฎางคนิมิตร จ.ชลบุรี

2.ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย

ต้นนี้เป็นต้นดั้งเดิม โดยเป็นต้นโพธิ์ที่ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล ที่ประตูหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ชมพูทวีป (ปลูกจากเมล็ดของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้) โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

จึงเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ที่ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า 2,560 ปี (มีอายุมากกว่าพุทธศักราช) และชาวพุทธนับถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสองรองจาก

“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถา แต่เมื่อคราวพระอานนท์ได้มายังพุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้ กลับไปปลูก ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่อื่น

ประวัติความเป็นมาของ “ต้นอานันทโพธิ์” จากหนังสือปูชาวัลลิยะของสมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย กล่าวไว้ว่า

“แม้ว่าพระเชตวันมหาวิหาร จะเป็นที่ยังความสะดวกและความสงบให้เกิดได้ ยิ่งกว่าสถานที่แห่งใดๆ อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า

แต่พระองค์ได้ประทับพักตลอดปีไม่ แต่ละปีพระพุทธองค์ทรงประทับพัก เพียง 3 เดือนในพรรษาเท่านั้น ส่วนอีก 9 เดือนของปีนอกฤดูฝน

พระองค์เสด็จจาริกออกไปแสดงธรรมในคามนิคมชนบทและหัวเมืองอื่น

เมื่อพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นประมาณปีละ 9 เดือน ชาวนครสาวัตถีผู้เลื่อมใสในพระธรรม ใคร่จะทูลเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจไม่ปรารถนาให้พระองค์เสด็จไปประทับแห่งใดๆ จึงพากันเกิดความเดือดร้อนใจ ปรึกษากันว่า จะทำไฉนหนอ จึงจะทูลเชิญพระองค์ให้ประทับอยู่ตลอดปีได้

เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไป ก็ทำให้เกิดความอ้างว้างใจ จะหาสิ่งใดของพระองค์ให้ปรากฏอยู่เป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าได้”

ความนั้นทราบถึง พระอานนท์เถระ พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น จึงนำกราบทูลให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณา จึงรับสั่งให้นำ ผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) ที่ตำบลพุทธคยา มาปลูกไว้ที่หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จักได้เป็นที่บูชากราบไหว้ของคนทั้งปวง

ครั้งนั้น พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้าย ทราบความประสงค์ของพระพุทธเจ้าจึงทูลอาสาแสดงฤทธิ์ โดยเหาะไปในอากาศถึงตำบลพุทธคยา นำเอาผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) กลับมายังพระเชตวันมหาวิหารได้ในวันเดียวกันนั้น

ครั้นนำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) มาแล้ว ก็มีการปรึกษากันว่า ผู้ใดจักสมควรเป็นผู้ปลูก เบื้องต้นชาวเมืองและพระสงฆ์พร้อมใจกันถวายพระเกียรติแด่ พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ผู้ครองกรุงสาวัตถี ให้ทรงเป็นผู้ปลูก แต่ทรงปฏิเสธ

โดยบอกว่าฐานะกษัตริย์ย่อมไม่มั่นคงถาวร ทายาทที่จะมาภายหลังจะให้ความคุ้มครอง บำรุงรักษาต้นโพธิ์ต่อไปนี้ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ จึงควรยกเกียรตินี้ให้แก่คนอื่น

ในที่สุดก็ได้ตกลงให้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ปลูก เพราะด้วยคิดกันว่า ต้นโพธิ์จะอยู่ภายในที่สาคัญของท่านอย่างหนึ่งและท่านมีบริวารข้าทาสหญิงชายมาก คงสืบตระกูลช่วยกันรักษาต้นโพธิ์ ต่อๆ กันไปได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการฉลองต้นโพธิ์ และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ 1 ราตรี ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองก็พากันกราบไว้ต้นโพธิ์เสมือนเครื่องระลึกแทนพระพุทธเจ้า ที่เรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ นั้นเป็นเพราะว่าพระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแล เรื่องการปลูกและรดน้ำจนต้นโพธิ์เจริญเติบโตนั่นเอง

อานันทโพธิ์ต้นนี้ยังคงยืนต้นอยู่ ณ ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้

อานันทโพธิ์ คือต้นโพธิ์ที่มาจาก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ชาวพุทธทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาถูกทำลายมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ที่วัดเชตวันมหาวิหารนี้ยังคงอยู่ เราจึงเชื่อว่า ต้นอานันทโพธิ์มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา

3.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

(เมืองอนุราธปุระ เป็นเมืองมรดกโลกและเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศศรีลังกา) หลังพุทธกาลในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3 พระนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช พระภิกษุณีรูปสุดท้ายในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ขณะทรงอัญเชิญพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาเผยแผ่ในประเทศศรีลังกาเป็นครั้งแรก ได้ทรงนำ กิ่งด้านขวาของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย

อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพร้อมกันด้วย โดยทรงเดินทางลงเรือมามอบให้แด่ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ

เพื่อให้ประดิษฐาน (ทรงปลูก) ไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2560) มีอายุกว่า 2,305 ปี

อันเนื่องมาจากชาวศรีลังกาได้ทำนุบำรุงรักษาดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีตลอดมา มีการค้ำด้วยไม้ที่หุ้มด้วยทองคำ และทำรั้วกำแพงทองคำล้อมรอบไว้ ผู้ที่จะเข้าไปกราบสักการะต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2357 พระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาด้วยจำนวน 6 ต้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช 2 ต้น นอกนั้นปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์, วัดสุทัศนเทพวราราม,วัดสระเกศฯ และที่เมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แห่งละ 1 ต้น

ขอบคุณภาพเเละข้อมูล : วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร