
บุรีรัมย์ฮือฮา ม.4 ขี่ควายเทียมเกวียนไปเรียน หวังประหยัดน้ำมัน อีกทั้งยังได้อนุรักษ์วิถีชาวนาดั้งเดิม ไม่ให้สูญหายไป
เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 66) โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวีดีโอของน้องนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง ขณะพากันขี่ควายเทียมเกวียนไปโรงเรียน จนกลายเป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียล ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นักเรียนที่ขี่ควายเทียมเกวียนไปเรียนเป็นนักเรียนโรงเรียนสูงเนินพิทยาคม อำเภอกระสัง จ.บุรีรัมย์
จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปยังโรงเรียนสูงเนินพิทยาคม ต.สูงเนิน อ.กระสัง ก็พบเกวียนจอดอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้กับสนามหญ้า และมีควายเพศผู้ 2 ตัวอยู่บริเวณสนามหญ้าภายในโรงเรียน จากการสอบถามทราบว่า เจ้าของควายและเกวียนดังกล่าว คือ นายพิสิฐ หรือน้องแต้ม อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 ส่วนนักเรียนที่นั่งเกวียนมาด้วยเป็นนักเรียนชั้น ม.2 แต่อยู่บ้านใกล้กัน จึงขี่เกวียนมาเรียนด้วยกัน เนื่องจากบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเกือบ 1 กิโลเมตร เดิมก่อนหน้านี้ก็พากันขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน แต่หลังจากน้องแต้ม ขี่เกวียนมาโรงเรียน น้องๆ ก็ขอติดมาด้วย
จากการสอบถาม น้องแต้มให้ข้อมูลว่า ปกติครอบครัวก็ใช้วัวและควายเทียมเกวียนในชีวิตประจำวัน ทั้งขนข้าว ขนหญ้าอยู่แล้ว อีกทั้งตนเองก็ได้รับการฝึกฝนใช้วัว-ควายเทียมเกวียน มาตั้งแต่เด็ก จนเกิดความชำนาญ ปัจจุบันก็รับฝึกวัว-ควายเทียมเกวียน และรับงานแห่ต่างๆ อยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้าขี่ควายเทียมเกวียนที่ใช้ในวิถีชีวิต ไปโรงเรียนแทนการขับขี่รถจักรยานยนต์ ก็จะเป็นการประหยัดค่าน้ำมัน ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้เป็นอย่างดี
น้องแต้มบอกว่า หากขี่รถจักรยานยนต์จะต้องเติมน้ำมันเฉลี่ยไปกลับวันละ 20 บาท แต่ถ้าขี่ควายเทียมเกวียนไป ก็ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเลย ก็จะเหลือเงินเก็บวันละ 20 บาท และยังรับน้องที่บ้านใกล้กันไปด้วยอีกวันละ 3-4 คน ก็ช่วยคนอื่นประหยัดได้อีกด้วย ส่วนควายก็นำไปผูกกินหญ้าที่โรงเรียนได้ด้วย เมื่อถามว่าอายไหมที่ขี่เกวียนมาโรงเรียน น้องแต้มกลับบอกว่า รู้สึกภูมิใจมากกว่าที่ได้ช่วยครอบครัวแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า-ตายายด้วย ขณะเดียวกันเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่โรงเรียนเห็น เขาก็ไม่ได้ล้อเลียนอะไร แต่กลับบอกว่าเท่มากว่า ปัจจุบันก็มีรายได้จากการฝึกวัว-ควายเทียมเกวียน และรับงานแห่ต่างๆ เฉลี่ยเดือนละกว่าหมื่นบาทด้วย
ด้านนายจิรวัฒน์ ดีล้อม อาจารย์ที่ปรึกษา บอกว่า การที่น้องขี่มาโรงเรียนหรือการใช้เกวียนในชีวิตประจำวัน ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า-ตายาย อีกด้วย เพราะปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวัน หากไม่อนุรักษ์ไว้อนาคตก็อาจจะเห็นแต่ในพิพิธภัณฑ์ก็ได้
ขณะที่นายปาน อายุ 75 ปี ตาของน้องแต้ม บอกว่า ตนเป็นคนสอนหลานให้ใช้วัว-ควายเทียม เกวียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะอยากให้หลานได้ซึมซับวิถีชีวิตดั้งเดิม จะได้อนุรักษ์สืบต่อจากตนเอง เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีใครใช้วัว หรือควายเทียมเกวียนแล้ว ในหมู่บ้านก็เหลือแค่ครอบครัวเดียว หากไม่มีใครอนุรักษ์ไว้ก็คงจะสูญหายไป ก็รู้สึกภูมิใจในตัวหลานที่สามารถใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมหารายได้เลี้ยงตัวเอง และแบ่งเบาภาระครอบครัว
วิถีดีๆแบบนี้ อีจันขอชื่นชมครับ