
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยพร้อมการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2565 พบว่า คนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง 4.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 134.9% จากจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปากที่เพิ่มขึ้น
โดยจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อจาก 5 โรคสำคัญลดลงทุกโรค แต่มะเร็งและเนื้องอก ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 เพราะคนไทยจำนวนมากยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ออกกำลังกาย
นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้ปี 2565 มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทาง อากาศ เพิ่มขึ้นเป็น 10.3 ล้านราย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคน ตามข้อมูลของสหประชาชาติ (UN)
พร้อมกันนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 มีผู้ป่วยจำนวน 358,267 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 355,537 คน และอัตราการฆ่าตัวตายปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 7.38 รายต่อประชากรแสนคน จากที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5-6 รายต่อประชากรแสนคน ระหว่างปี 2547-2562