ขายตั๋วผี-อัปราคา ทนายเจมส์ เฉลย ทางกฎหมายผิดต่างกันอย่างไร

‘ทนายเจมส์’ เปิดเล่ห์กลโกงขายตั๋วผี อัปราคา’คอนเสิร์ต-แฟนมีตติ้ง’ มีความผิดทางกฎหมายต่างกันอย่างไร

กดบัตรคอนเสิร์ต-แฟนมีตติ้ง ไม่ทัน ก็ยังไม่ปวดใจเท่าราคาบัตรขายต่อ อัปขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งมีแฟนคลับจำนวนไม่น้อยยอมสู้ เพื่อให้ได้มีตติ้งสักครั้งกับศิลปิน โอปป้า ออนนี่ ที่เรารัก

แต่ก็มีแฟนคลับจำนวนไม่น้อย ที่ต้องพลาดท่าเสียทีให้กับมิตร (มิจฉาชีพ) ที่แสร้งหวังดี ยื่นมือเข้าช่วย เพื่อให้ชีวิตติ่งคอมพลีท แต่หลอกขายบัตรผี โอนเงินแล้วบล็อกการติดต่อ นอกจากจะเสียเงินฟรีแล้ว ความหวังจะได้เห็นหน้าค่าตาโอปป้า ยังเป็นศูนย์อีกด้วย 

สัปดาห์นี้ ‘ทนายเจมส์’ จะช่วยคลายความสงสัย ให้ได้รู้ก่อนใครว่า หากวันหนึ่งติ่งอย่างเราต้องตกที่นั่งลำบาก พลาดท่าให้กับมิจฉาชีพเหล่านั้น จะรับมืออย่างไร 

โดย ‘ทนายเจมส์’ ระบุว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง การจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำศิลปินต่างประเทศ เข้ามาแสดงในประเทศไทยยิ่งได้รับความนิยมอย่างมาก แฟนคลับถึงขั้นต้องแย่งชิงกันจองบัตรคอนเสิร์ต เมื่อมีความต้องการบัตรคอนเสิร์ตสูง ปัญหาหลายอย่างก็ตามมาครับ เช่น บัตรปลอม บัตรผี บัตรเกินราคา เป็นต้น

ผู้จัดงานคอนเสิร์ตจึงแก้ไขปัญหาด้วยการจำกัดจำนวนการจอง ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมในบัตรให้ชัดเจน เพื่อให้ยากต่อการเปลี่ยนบัตรคอนเสิร์ต หรือนำไปขายต่อ เช่น จองบัตรคอนเสิร์ตได้ 1 ใบต่อ 1 คน, ระบุชื่อของผู้จองคอนเสิร์ตลงในบัตร เป็นต้น 

กรณีที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตมาแล้ว แต่ไปไม่ได้ หรือไม่อยากไปแล้ว ก็อาจจะนำบัตรมาขายในราคาถูกๆ หรืออาจจะเอาบัตรให้คนอื่นฟรีๆ คงจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่ได้ระบุชื่อในบัตรอย่างชัดเจน แต่สำหรับบัตรคอนเสิร์ตที่ระบุชื่อไว้อย่างชัดเจน ท่านอาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้างาน คอนเสิร์ตได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ผู้ขายกำหนดไว้ และผู้ซื้อยินยอมจะปฏิบัติตามก่อนซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้ว ซึ่งคนที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตมาในราคาถูก หรือรับบัตรมาฟรีๆ ก็อาจจะต้องไปเสียเที่ยว

ปัญหาที่พบเจอได้บ่อยๆ ในกรณีการซื้อขายบัตรคอนเสิร์ต ดังนี้ 

1.กรณีที่มีผู้ขายบัตรคอนเสิร์ตในราคาที่แพงกว่าราคาจำหน่ายที่ผู้จัดคอนเสิร์ตกำหนด สามารถซื้อขายได้ ไม่มีความผิดตามกฏหมาย เนื่องจากเป็นความพอใจของผู้เสนอขายและผู้ซื้อ 

2.กรณีที่ไม่มีบัตรคอนเสิร์ตอยู่ในมือ และไม่สามารถที่จะหาบัตรคอนเสิร์ตให้แก่ผู้ซื้อได้ แต่กลับนำไปเสนอขาย หรือโพสต์ขาย กรณีนี้ถือเป็นความผิดในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และจะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายเต็มจำนวน

3.กรณีที่ปลอมบัตรคอนเสิร์ตขึ้นมา เพื่อเสนอขายหรือโพสต์ขาย นอกจากจะเป็นความผิดตามที่ได้กล่าวมาในข้อ 2 แล้ว อาจจะมีความผิดในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเพิ่มอีกด้วย และจะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายเต็มจำนวน

ในการดำเนินคดี สามารถแจ้งความกับพนักงานสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนออกหนังสืออายัดเงินในบัญชีที่ท่านได้โอนไปยังผู้ต้องหา ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เนื่องจากพนักงานสอบสวน และอัยการจะดำเนินการให้ รวมถึงสามารถที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล 

หรือจะแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินการออกหนังสือบอกกล่าวทวงถามและฟ้องคดีก็ได้ แต่ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของทนายความ และค่าขึ้นศาลหากมีการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการทางกฏหมายท่านจะเลือกแนวทางอย่างไร ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความพอใจ และความพร้อมของผู้เสียหายแต่ละคนครับ

สุดท้ายนี้ หากท่านได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากหรือเงินจะน้อย ท่านก็ควรจะไปแจ้งความดำเนินคดีและขอให้พนักงานสอบสวนออกหนังสืออายัดเงินในบัญชีไว้ เพื่อระงับความเสียหายและป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหานำเลขที่บัญชีดังกล่าวไปหลอกลวงผู้อื่นอีก 

แต่หากท่านเพิกเฉย มิจฉาชีพก็อาจจะนำเลขที่บัญชีไปหลอกหลวงผู้อื่นไปเรื่อยๆ ซึ่งผู้เสียหายรายต่อไป อาจจะเป็น พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ บุตรหลานของท่านเองก็เป็นไปได้ครับ