
ไทยมีความมั่นคงทางอาหาร เตรียมผลักดันเป็นครัวของโลก!
(24 ก.ค.65) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึง สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทย ว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีโนบายบริหารจัดการและออกมาตรการดูแลประชาชนควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ซึ่งภาคการเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งกลไกและฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรให้มีอาชีพสร้างรายได้ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพส่งออกไปไปจำหน่ายทั่วโลก และมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ เช่น ข้าวที่สามารถผลิตได้มากกว่า 20 ล้านตันต่อปี ใช้บริโภคภายในประเทศประมาณ 12-13 ล้านตันที่เหลือสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ รวมถึง มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จากไก่ สินค้าประมง เป็นต้น
โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565
ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 550,000 ล้านบาท จึงยืนยันได้ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหาร ไม่มีขาดแคลนอย่างแน่นอน แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะประสบปัญหาปัจจัยด้านการผลิต โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมี ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อกลไกการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร โภคภัณฑ์ในหลายประเภท ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากการสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องแล้ว รัฐบาลจะมีการส่งเสริมให้มีการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย โพแทสเซียม ภายในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีแร่ธาตุที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตปุ๋ย รวมถึงการนำของเหลือใช้ภายในประเทศมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ควบคู่การเจรจานำเข้าเข้าปุ๋ยกับประเทศผู้ผลิตปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยและสามารถนำมาทดแทนการนำเข้าแก้ไขปัญหาระยะยาวได้
นายฉันทานนท์ เผยอีกว่า ในวันที่ 26 สิงหาคม 65 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงด้านอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 โดยประเทศไทยจะใช้โอกาสจากเวทีการประชุมดังกล่าว ผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและครัวไทยสู่ครัวโลก ในการผลิตสินค้าที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค และจะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปคร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ