
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก ออกมาตรการเสริมสร้างวินัยจราจร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อลดอุบัติเหตุ
ด้านพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จึงได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมกันดำเนินการกวดขันวินัยการขับขี่ บังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งสองหน่วยงาน จึงได้ร่วมกันกำหนด
มาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ การตัดคะแนนความประพฤติ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้กระทำผิดกฎจราจรและถูกตัดคะแนนแล้ว จำนวน 15,456 ราย และ
มาตรการชะลอการออกเครื่องหมาย แสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลได้แบบ Real Time ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำหนดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สตช. และ ขบ. เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
สำหรับมาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีจะใช้กับรถยนต์ที่ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดย สตช. จะส่งข้อมูลโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียน ขบ. เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปีแต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้ แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ทันที ทั้งนี้ การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษ ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่ารถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่ ขบ. กำหนด ให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระและคะแนนความประพฤติได้ที่เว็บไซต์ E-ticket PTM และแอปพลิเคชัน ขับดี
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายในการป้องกันและรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยในการ ใช้รถใช้ถนนและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน ขบ. ได้ดำเนินการตามนโยบายโดยร่วมจัดทำ “บันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกระหว่าง สตช. กับ ขบ.” ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีที่มาจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 141/1 ที่กำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ชำระค่าปรับจราจรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดย สตช. จะแจ้งข้อมูลผู้ค้างชำระค่าปรับจราจรให้ ขบ. เพื่อแจ้งให้เจ้าของรถหรือผู้มาติดต่อในขั้นตอนที่มาขอชำระภาษีประจำปีให้ชำระค่าปรับ โดยบันทึกข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ สตช. และ ขบ. ในกรณีดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในการควบคุมความประพฤติของผู้ขับรถเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การจราจร และสวัสดิภาพของประชาชน
ทั้งนี้ในความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลง สตช. จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับ ขบ. และส่งข้อมูลค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่ค้างชำระตามมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มายัง ขบ. เมื่อเจ้าของรถมาติดต่อชำระภาษีรถประจำปี ณ สำนักงานขนส่ง หากปรากฏว่ามีข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระ เจ้าของรถสามารถชำระค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมกับชำระภาษีกับนายทะเบียนของ ขบ. และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีฉบับจริงได้ทันที และกรณีเจ้าของรถประสงค์จะชำระภาษีรถประจำปี โดยไม่ชำระค่าปรับที่ค้างชำระ เจ้าของรถยังคงสามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ตามปกติ
โดยจะได้รับหลักฐานชั่วคราวแทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี ซึ่งหลักฐานชั่วคราวดังกล่าวจะมีอายุ 30 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนออกให้ หากต่อมาเจ้าของรถได้ทำการชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนของ ขบ. เรียบร้อยแล้วสามารถนำหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับมาแสดงต่อนายทะเบียนของ ขบ. เพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปีได้ และหากเจ้าของรถมีความประสงค์ตรวจสอบข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระหรือจะโต้แย้งข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระสามารถติดต่อ สตช. ผ่านช่องทางที่ สตช. กำหนด
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาดำเนินการด้านทะเบียนและชำระภาษีรถประจำปี และส่งเสริมมาตรการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างวินัยจราจร จิตสำนึกด้านความปลอดภัย และช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ การเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งค้างชำระของทั้งสองหน่วยงานนั้น จะเริ่มใช้กับใบสั่งจราจรสำหรับการกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง สตช. และ ขบ. เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างวินัยจราจร จิตสำนึกด้านความปลอดภัยซึ่งจะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป
ใบสั่งค้างจ่าย หรือใบสั่งค้างชำระ คือ ใบสั่งที่ยังไม่มีการชำระค่าปรับ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรออกหนังสือเตือนการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง ก็ยังคงไม่มีการชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด
ผู้ขับขี่ที่มีใบสั่งค้างชำระ ซึ่งพบการกระทำผิด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ( ไม่มีผลย้อนหลัง ) เมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนรถยนต์จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี หรือ ป้ายภาษี ให้ ผู้ขับขี่ที่ค้างชำระค่าปรับจะได้ใบแทนเสียภาษีชั่วคราว แทนใบจริง จนกว่าจะชำระค่าปรับให้ครบถ้วน ภายใน 30 วัน หลังรับใบแทน โดยมาตรการนี้เริ่ม 1 เม.ย.นี้
ไม่ได้ป้ายภาษี มีผลอย่างไร?
• ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
• ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน
ขอบคุณข้อมูล thaigov , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ