
พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ พระเครื่องเก่าแก่ ที่มีมนต์ขลัง และความศักดิ์ศิทธิ์ พระเครื่องต้นแบบพระสมเด็จ ของ หลวงพ่อโต วัดระฆังโฆสิตาราม ถูกจัดสร้างขึ้นโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
สำหรับประวัติของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน นั้น ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของราชวงศ์จักรี และยังเป็นพระบรมราชาจารย์ของล้นเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 2, 3 และ 4 อีกด้วย
พระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ. 2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากพงศาวดารระบุชัดว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก เพราะต่างได้เห็นความเข้มขลังด้านเมตตาพรหมวิหาร สามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่ามารับการโปรยทานได้ทุกวัน อันเป็นที่มาของ พระสังฆราชไก่เถื่อน นั่นเอง
ส่วนการสร้างพระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ นั้น พระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เริ่มสร้างตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2360 สมัยที่ยังเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ โดยเป็นที่เข้าใจว่าพิมพ์แรกหรือพิมพ์ปฐมฤกษ์ คือ พิมพ์เกศเปลวเพลิง ต่อมาเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชและย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านจึงได้นำพระสมเด็จอรหังมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ
สำหรับเนื้อมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จอรหังนั้น มวลสารในการสร้างเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม คือ ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนผสมอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ ผิดกันตรงสัดส่วนที่นำมาผสมกันเท่านั้น
องค์พระสมเด็จอรหังจะมี 2 สี คือ เนื้อขาวและเนื้อแดง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เส้นซุ้มครอบแก้วเป็นเส้นเล็กและบาง พระเกศเป็นเส้นเล็ก คม และยาว พระพักตร์กลม พระกรรณทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กนูนและคม ข้างขวาขององค์พระจะชิดพระพักตร์มากกว่าข้างซ้าย
ลำพระศอเป็นเส้นคม พระอุระเป็นรูปตัววี (V) มีเส้นอังสะ 2 เส้น คมและชัดเจนมาก พระพาหาเป็นรูปวงกลม ไม่มีหักศอก และพระเพลามีลักษณะคล้ายเรือสำปั้น ด้านพุทธคุณมีความเด่นทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯทุกอย่าง
สมเด็จอรหัง ถือว่าเป็นของดีที่มีมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ สนามหลวง เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นของสำคัญคู่กับวัดมหาธาตุฯซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 1เป็นเจ้าตำรับ สมเด็จอรหังนี้ถือเป็นพระต้นแบบของพระสมเด็จของสำนักต่างๆ สมควรจะได้รับการสืบสานและรักษาของดีให้มีมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์คู่กับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์
ในส่วนของการจัดสร้างได้นำมวลสารทั้งหมดจากการสร้างสมเด็จอรหังรุ่นพุทธชยันตี 2600 ปี รุ่นปี 2556 และ รุ่น 9 มงคล มาจัดสร้างเป็นสมเด็จอรหัง รุ่นครอบจักรวาล ส่วนการที่พระสมเด็จอรหังรุ่นนี้ได้ชื่อว่า รุ่นครอบจักรวาล เพราะได้ผสมมวลสารผงไม้สมุนไพรที่มีชื่อเป็นมงคลว่า ครอบจักรวาล
พิธีพุทธาภิเษกเมื่อการจัดสร้างพระสมเด็จแล้วเสร็จได้มีการจัดพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ ในวันพระปาฏิโมกข์เป็นการภายในวัดมหาธาตุ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ถือเป็นวันพระปาฏิโมกข์ขึ้น15 ค่ำสุดท้ายของปี2558(วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1) มีพระพรหมวชิรราธิบดี อธิบดีสงฆ์เป็นประธานในพิธี มี 2 แบบคือ พระผงเนื้อพุทธคุณ(ฝังตระกรุด) เนื้อผงใบลานเล็ก(ฝังตระกรุด) มีจำนวนจำกัด
ในโอกาสมหามงคล สมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมมีส่วนในการตั้งกองบุญส่วนตน ร่วมบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ครั้งใหญ่ เพื่อเปิดให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
จึงขอเชิญร่วมบุญคนละ 339 บาท ไปรษณีย์ไทยจะนำส่งพระสมเด็จอรหังรุ่นครอบจักรวาลถึงบ้าน
ขอบคุณข้อมูลจาก : siamrath.co.th