ผู้ว่าฯ กทม. รับไม่ได้ ผอ.รับส่วย เงินอาหารนักเรียน สั่งลงโทษเด็ดขาด

“ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. เดือด รับไม่ได้ กรณี ผอ.รับส่วย เงินอาหารนักเรียน สั่งลงโทษเด็ดขาด เชื่อ แก้ปัญหาได้

จากกรณี บช.ปปป. ร่วม ป.ป.ช.-ป.ป.ท. รวบ ผอ.โรงเรียนคาห้องทำงาน หลัง เรียกรับเงินผู้จ้างเหมาอาหารนักเรียน เมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 66)

รวบคาห้องทำงาน ผอ. เรียกเงิน ผู้จ้างเหมา อาหารนักเรียน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ กทม. มีนโยบายที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งการดำเนินการวินัยเป็นอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานคร โดยได้สั่งให้ดำเนินการขั้นสูงสุดตามกรอบที่กฎหมายอนุญาต เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่ก็ให้สิทธิในการชี้แจงเช่นเดียวกัน เบื้องต้นจะให้พักราชการไว้ก่อน และจะมีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม เชื่อว่าปัจจุบันไม่มีความลับในโลก ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ มีการอัดเทป นี่ถือเป็นตัวอย่าง โดยถึงแม้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะถูกกฎหมาย แต่กระบวนการตรวจรับก็อาจมีช่องว่าง ซึ่งกทม.จะดูที่คุณภาพอาหารเด็กเป็นสำคัญ โดยมอบพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  จากกรณีดังกล่าว ขณะนี้สำนักงานเขตคลองสามวาทำเรื่องมาแล้ว จากนั้นปลัดกรุงเทพมหานครในฐานะผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากเป็นความผิดที่ชัดแจ้ง และขณะเดียวกันจะมีคำสั่งให้พักราชการไว้ก่อน ทั้งนี้ ในการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะมีการกำหนดว่าต้องแล้วเสร็จภายในกี่วัน เช่น 15 วัน หรือ 30 วัน ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณา

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ให้ใช้คนที่มีคุณภาพ และห้ามทำการซื้อขายตำแหน่งโดยเด็ดขาด ที่ผ่านมาก็พยายามปรับตรงนี้อยู่ ให้มีความโปร่งใส ยุติธรรม พร้อมหาแนวร่วมในการแจ้งปัญหาหรือเบาะแสผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ Traffy Fondue โดยจะปกป้องข้อมูลของผู้แจ้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและทำให้ประชาชนไว้ใจ

“เรื่องของอาหารกลางวัน เราต้องยอมรับความจริง แต่เราต้องรีบแก้เมื่อเห็นปัญหา หัวใจสำคัญคือการยอมรับว่ามีปัญหา จึงจะทำให้แก้ปัญหานั้นได้ ในเรื่องนี้ หากในโรงเรียนมีคนที่ทำผิด มีพฤติกรรมทุจริต หน้าที่เราคืออย่าไปยอม ต้องแจ้งเบาะแส เพื่อเอาคนพวกนี้ออกจากระบบ และเพื่อให้คนที่เหลือมีกำลังใจในการทำงาน นอกจากนี้ วิธีแก้อีกอย่างคือการดูแลคุณภาพอาหาร หากเป็นการประมูลที่มีการแข่งขันถูกต้อง มีการควบคุมคุณภาพอาหารให้เหมาะกับราคากลาง ก็จะไม่มีช่องว่างให้ถูกเอาไปใช้อย่างอื่นได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว