
วันที่ 22 ก.พ.66 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้
ซึ่งตาม พ.ร.บ.นี้ ได้บัญญัติให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงผู้ต้องหาตั้งแต่เริ่มดำเนินการควบคุมตัวผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการทุกนายจะต้องมีกล้องเพื่อบันทึกภาพและเสียง ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่
โดยเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อ
ป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ล่าสุด วันที่ 21 ก.พ.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบ 444.81 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการ จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยจะจัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง จำนวน 48,568 ชุด แบ่งเป็น 3 รายการ ได้แก่
-กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดบนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 37,624 ชุด งบประมาณ 338.62 ล้านบาท สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กลุ่มสายงาน ได้แก่ สายงานป้องกันปราบปรามและสายงานจราจร จำนวน 16,945 ชุด และสายงานสืบสวนสอบสวน จำนวน 20,679 ชุด (ซึ่งได้รับการจัดสรรเป็นครั้งแรก)
-กล้องบันทึกภาพและเสียงแบบมือถือ พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในห้องสอบสวนและห้องควบคุม จำนวน 9,366 ชุด งบประมาณ 93.57 ล้านบาท สำหรับสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,484 สถานี และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 77 หน่วยงาน
-กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดตั้งภายในรถยนต์ จำนวน 1,578 ชุด งบประมาณ 12.62 ล้านบาท สำหรับติดตั้งในรถยนต์ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9