
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 66 ทีมวิจัยทางธรรมชาติวิทยาองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยว่า หลังการเข้าศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง และความหลากหลายของพืช สัตว์ในอุทยานธรณีสตูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จนในปี พ.ศ. 2565 นักวิจัยอพวช. มดสีเหลืองขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในกิ่งไม้แห้งที่ติดค้างอยู่กับลำต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะด้านนอกถ้ำอุไรทอง และบริเวณป่าข้างถนนใกล้คลองห้วยบ้า อำเภอละงู จังหวัดสตูล
หลังได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า มดชนิดนี้อยู่ในกลุ่มของมดบาก (Genus Vombisidris) ซึ่งเป็นหมดชนิดใหม่ของโลก และได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vombisidris satunensis Jeenthong, Jaitrong & Tasen, 2023 ถูกบรรยายลักษณะและตีพิมพ์ลงในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566) ซึ่งมดชนิดใหม่นี้ได้ถูกตั้งชื่อไทยว่า “มดบากจีนใจ”
สำหรับ มดบากจีนใจ เป็นมดขนาดเล็ก มีความยาวลำตัว 2.64 มิลลิเมตร ส่วนหัวและลำตัวมีสีเหลือง ส่วนท้องสีน้ำตาลเข้ม ขาทั้งสามคู่สีเหลืองอ่อนกว่าลำตัว ส่วนหัวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นผิวด้านหน้าของหัวเป็นลายตาข่าย ด้านข้างหัวมีลักษณะเป็นร่องแคบ 1 เส้น ยาวคาดจากส่วนท้ายหัวผ่านมาชิดขอบล่างตารวม (compound eyes) และยาวไปถึงด้านข้างปาก (Subocular groove) และบริเวณส่วนอกซึ่งหลอมรวมกับท้องปล้องแรกมีหนาม (Propodeal spine) 1 คู่ มีลักษณะตรง หนา และสั้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากมดบากชนิดอื่น
ทั้งนี้ การค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในอุทยานธรณีสตูลนั้นแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานธรณี สำหรับ อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ในปี พ.ศ. 2561 ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.nsm.or.th