เปิดสาเหตุ-อันตราย ฝุ่น PM 2.5

เปิดสาเหตุ-อันตราย จากฝุ่น PM 2.5 หายใจฝุ่นลงปอดทันทีแถมกระจายไปยังเลือดได้เลย
เปิดสาเหตุ-อันตราย ฝุ่น PM 2.5

ช่วงนี้ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมกรุงเทพฯ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ ในปริมาณที่เกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยวันที่ 1 ก.พ.66 และ  2 ก.พ.66 เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร รายงานผลการตรวจวัด PM2.5 โดยศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่นตรวจวัดได้เกินมาตรฐานถึง 70 พื้นที่ ทั้ง 2 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็ก! 70 พื้นที่กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน
เปิดสาเหตุ-อันตราย ฝุ่น PM 2.5

ทำให้วันนี้ (2 ก.พ.66) เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า โดยโฆษกรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับ สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า ปัจจุบันค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศไทยตอนกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนกรุงเทพฯ และเมืองขนาดใหญ่ ค่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ

ทั้งนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ และ 14 จังหวัดภาคเหนืออยู่ในระดับมีผลกระทบกับสุขภาพ

โดยสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีจุดความร้อนมากกว่า 1.2 พันจุดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจุดความร้อนนี้เกิดจากไฟป่า กลุ่มควันปกคลุม ทำให้ดาวเทียมเช็คจุดความร้อนได้

จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (1 ก.พ. 66) จำนวน 1,208 จุด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรกัมพูชาพบจุดความร้อน จำนวน 1,713 จุด ตามด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 1,072 จุด สปป.ลาว 927 จุด เวียดนาม 522 จุด และมาเลเซีย 4 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 294 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 293 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 273 จุด พื้นที่เขต สปก. 204 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 127 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ชัยภูมิ 133 จุด กาญจนบุรี 128 จุด และลพบุรี 50 จุด ตามลำดับ ส่วนภาคเหนือสูงสุดที่จังหวัดเชียงราย 47 จุด

จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ (ยกเว้นทางใต้) คาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า เนื่องจากพื้นที่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้วจำนวน 6,076 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,800 จุด และภาคตะวันออก 1,105 จุด ตามลำดับ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดน

15 จังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสม และจุดความร้อนสูงสุด

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า ในสถานการณ์ปกติจะพบว่าค่า PM 2.5 จะอยู่ในค่ามาตรฐาน แต่ถ้าอากาศปิดและมีการเผาจะทำให้ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานไปจนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าเริ่มมีหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว และในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นฤดูหนาวจะทำให้ค่า PM 2.5 เริ่มเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบ ซึ่งในช่วงเวลาที่อากาศปิด และมีจุดความร้อนเกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ค่า PM 2.5 ในวันที่ 1-4 ก.พ.66 จะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบและมีผลกระทบตุ่อสุขภาพของประชาชน

ส่วนวันที่ 5 ก.พ.66 สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 จะดีขึ้น โดยวันที่ 7 ก.พ.65 จะลดลงมาอยู่ในระดับมาตรฐาน ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ

อันตรายของฝุ่น PM 2.5

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ที่ต้องพูดถึงฝุ่น PM 2.5 เพราะเป็นละอองขนาดเล็ก เล็กมาก ทำให้เวลาเราหายใจเข้าไปสามารถผ่านเข้าไปในปอดของเราได้ และกระแสเลือดของเรา ไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราได้ ทำให้เกิดการระคายเคืองในที่ต่างๆ ได้ ไม่ใช่เฉพาะที่

ศ.นพ.วินัย บอกว่า การที่ PM 2.5 ไปได้ไกลทำให้มีผลทั้งระยะสั้นและระยาว พบว่า ในช่วงที่มีปริมาณมากๆ ในระยะสั้นจะทำให้มีผลกระทบกับโรคหัวใจ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเกิดได้สูงกว่าปกติ นอกเหนือจากหลอดลม ที่เรียกกว่าเส้นเลือดกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ และหลอดเลือดในสมองอุดตันได้

ส่วนระยะยาวที่มีการสูดดม PM 2.5 นานๆ พบว่า ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงได้มากกว่าคนที่อยู่สภาพแวดล้อมที่ดี และอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานได้สูงขึ้น และเกี่ยวพันกับมะเร็งปอด

ทั้งนี้ มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจนว่า PM 2.5 ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดโรคหัวใจ และมะเร็ง โดย PM 2.5 จะทำให้คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ และหอบหืดต้องระวัง เพราะอาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น

การวัดปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)

-ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือมีค่าเกิน 51 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง

-ค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อวัดแล้วอยู่ในระดับ 51-90 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีส้ม)

-ค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อวัดแล้วอยู่ในระดับมากกว่า 90 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง)

การป้องกันอันตรายจาก PM 2.5 คือ สวมแมสก์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

No stories found.

ข่าวยอดนิยม

No stories found.
logo
ข่าว อีจัน
www.ejan.co