หมอเตือน! ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว ภัยร้าย อันตรายกว่าที่คิด

ช็อก! หมอธีระวัฒน์ เผย ฝุ่น PM 2.5 และฝุ่น PM 10 หากสูดดมเป็นประจำ เสี่ยงเสียชีวิต จากเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้!

ฝุ่นจิ๋ว…แต่เรื่องไม่จิ๋ว คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์!

วันนี้ (2 ก.พ.66) นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พูดถึงเรื่องราวฝุ่นพิษ ขนาดเล็กจิ๋ว PM 2.5 และ ฝุ่นพิษ ขนาดจิ๋วใหญ่ PM 10

คุณหมอบอกว่า จากการรายงานของ สมาคมโรคหัวใจ หรือ Journal of American College of Cardiology เผยว่า หากเจอฝุ่นพิษนี้ กับไนโตรเจนไดออกไซด์ เพียงแค่ 2 วัน เราก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต จากเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้!

ปริมาณของฝุ่นพิษที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนถึงระดับ 33.3 และ 57.3 ตามลำดับ โอกาสเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจยิ่งสูงขึ้น

ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษาในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ช่วงปี 2556 ถึง ปี 2561 แต่ประเทศจีนมีการปรับตัว และเตรียมการจัดการกับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2554 ถึง ปี 2555 และประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีการติดตั้งเครื่องวัดในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร เพื่อเตือนและกำจัดมลพิษเหล่านี้

ซึ่งการศึกษานี้ เป็นการพิสูจน์ และตอกย้ำว่า ฝุ่นจิ๋วพิษเหล่านี้ ไม่ได้ทำลายปอดอย่างเดียว แต่มีผลต่อหัวใจในลักษณะเฉียบพลันด้วย

แล้วฝุ่นพิษจิ๋วเหล่านี้มาได้อย่างไร?

ฝุ่นพิษเหล่านี้ เกิดได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า หรือมาจากน้ำมือมนุษย์ ในการจงใจเผาป่า เผาตอซัง เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรม มลพิษที่ยังถูกปลดปล่อยออกมา จากเครื่องยนต์ จากรถ จากโรงงาน และกรณีอื่นๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษเหล่านี้ได้

โดยมลพิษที่ยังถูกปลดปล่อยออกมา จากเครื่องยนต์ และท่อไอเสียของรถยนต์ มีส่วนในการเพิ่มฝุ่นพิษเหล่านี้ เพราะจากการศึกษาในช่วงโควิด ระบาด คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้านการใช้รถน้อยลง และฝุ่นพิษเหล่านี้ก็ลดน้อยลงด้วย

ปัญหานี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างน้อย 12 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และถือว่าเป็นอันดับ 4 ในการเสียชีวิตของคนจากทั่วโลก ซึ่งมากกว่าโรคที่เกิดจากไขมันสูง โรคอ้วน และโรคร้ายแรงอีกหลายโรค

หากเราต้องเจอกับฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพ จนถึงขั้นคร่าชีวิตของมนุษย์จากโรคทางหัวใจและเส้นเลือด ได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และโรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าฝุ่นพิษจะต่ำกว่ามาตรฐาน ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

สุดท้ายคุณหมอบอกว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีการเสียชีวิตจากฝุ่นพิษเหล่านี้ คือทุกวัย แต่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ลูกเพจอีจันดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ