
ประวัติ "หลวงพ่อพระมหาเอื้อน หาสธมฺโม”
พระมหาเอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9 หรือ พระพรหมดิลก พระราชาคณะเจ้าคณะรอง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค14 รองเจ้าคณะภาค1 ที่ปรึกษาแม่กองบาลีสนามหลวง
หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) จำเลยในคดีฟอกเงินจากการทุจริตงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนา สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม หรือที่เรียกว่า คดีเงินทอนวัด พระมหาเอื้อน ได้กลับมาปฏิบัติธรรมอย่างสงบ อยู่ที่วัดสามพระยา ซึ่งท่านเป็นที่รักที่ศรัทธายิ่งของศิษยานุศิษย์
จนกระทั่ง วันที่ 17 มีนาคม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์พระมหาเอื้อน หาสธมฺโม (ป.ธ.9 ) ดำรงสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพรหมดิลก “ สถิต ณ วัดสามพระยา พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร
โดยให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์และราชทินนามมาก่อน
เพื่อให้ทุกท่านรู้จัก “พระมหาเอื้อน” มากขึ้น “อีจัน” ขอนำข้อมูลที่ “เพจจีวร” ได้เรียบเรียงประวัติ “พระมหาเอื้อน” มาบอกต่อนะคะ
พระมหาเอื้อน ฉายา หาสธมฺโม นามสกุล กลิ่นสาลี เป็นคนนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2488 ปัจจุบันอายุ 78 ปี บวชมา 50 กว่าพรรษาแล้ว
...พระมหาเอื้อน สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2523
...พระมหาเอื้อน สนองงานถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) อยู่ 2 ปี ก่อนบินไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย
...พระมหาเอื้อน จบการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาบาลีและการศึกษาทางพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี เมื่อปีพุทธศักราช 2526
...พระมหาเอื้อน หลังจากศึกษาปริญญาโทจบแล้ว ก็ได้ลงเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดิม และจบปริญญาเอก เมื่อปีพุทธศักราช 2529
...พระมหาเอื้อน หลังเรียนจบแล้วก็กลับมาสนองงานรับใช้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จวบจนเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงมรณภาพ จึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามพระยาในเวลาต่อมา
...พระมหาเอื้อน เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ส่วนกลาง มาตั้งแต่เป็นมหาเปรียญ แม้กระทั่งเป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จแล้ว ก็ยังสอนอยู่ อย่างในโรงเรียนคณะสงฆ์นี่ เวลาเข้าสอนปกติคือ 4 โมงเย็น กว่าจะเลิกสอนก็ปาเข้าไปเกือบ 6 โมงเย็น บางทีสอนเพลินเกินเวลาก็มี จิตวิญญาณครูมาเต็ม สอนจนชนิดที่ว่าระฆังทำวัตรเย็นวัดสามพระยาตอนหกโมงเย็นยังไม่ดัง ก็ยังไม่เลิก ระฆังดังเมื่อไหร่ ค่อยเลิกตอนนั้น สอนแบบนี้มาทุกปี นับเวลาดูตอนนี้ก็ประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ที่สอนหนังสือมาและเลิกพร้อมเสียงระฆังดัง และแม้กระทั่งในวัดสามพระยาเอง เราคงจินตนาการภาพที่พระระดับเจ้าอาวาสและเป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ลงไปนั่งสอนนักธรรมบาลีกับเณรน้อยขี้มูกยืด ห่มผ้าจะหลุดแหล่มิหลุดแหล่ ไม่ออกเท่าไหร่นัก แต่ขอบอกเลยว่าพระมหาเอื้อน (อดีตพระพรหมดิลก) ทำมาแล้ว และทำประจำจนเป็นภาพที่พระเณรในวัดสามพระยาเห็นกันจนชินตา
...พระมหาเอื้อน นอกจากจะสอนหนังสือพระเณรแล้ว ยังเป็นกรรมการเฉลยข้อสอบบาลีสนามหลวง ประจำกองบาลีสนามหลวงอีกด้วย โดยเฉพาะวิชาแต่งฉันท์ภาษามคธ ประโยค ป.ธ.8 ที่ท่านสอนอยู่ในโรงเรียนคณะสงฆ์ สอนเอง เฉลยเอง นักเลงพอ และเป็นกองตรวจประโยค ป.ธ.8 ที่มีผลงานอันน่าทึ่งจนแม่กองบาลีสนามหลวงขยับท่านให้ไปเป็นกรรมการตรวจชั้นประโยค ป.ธ.9 และเป็นเพราะความตรงของท่านนี่แหละที่ทำนักเรียนประโยค ป.ธ.9 ร้องจ๊ากกันมาแล้วเป็นแถว เพราะหากเขียนผิดตัวนึงหรือบรรทัดนึงแล้วบังเอิญไปขึ้นมือท่านตรวจ ท่านขีด 3 ปื้ด เห็นไม่สมภูมิ ท่านก็ไม่ให้ผ่าน พวกคุณมหาก็ดี ลูกเณรทั้งหลายก็ดี ปีหน้าสอบใหม่นะ
...พระมหาเอื้อน สนองงานคณะสงฆ์เรื่อยมาจนได้รับความไว้วางใจจากพระมหาเถระให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ มาตามลำดับ เป็นตั้งแต่รองเจ้าคณะภาค 1 เจ้าคณะภาค 14 กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เรียกได้ว่าผ่านงานมาทุกบทบาท ทั้งงานเลขา ผู้ว่า รองแม่ทัพ แม่ทัพ ยันรัฐมนตรีเลยทีเดียว
...พระมหาเอื้อน นอกจากจะเป็นทั้งพระนักการศึกษาและพระนักปกครองแล้ว ยังเป็นพระนักการกุศลอีกด้วย อย่างเช่น เมื่อตอนที่ภาคใต้และต่างประเทศประสบอุทกภัย และแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ก็เป็นท่านนี่แหละที่ให้บรรดาพระสังฆาธิการรวบรวมเครื่องอุปโภค-บริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง นำไปแจกจ่ายตามพื้นที่ต่างๆ ระดมสรรพกำลังและทุนทรัพย์เท่าที่คณะสงฆ์พอจะช่วยได้ส่งไปช่วยเหลือ และในฐานะที่เป็นกรรมการโรงพยาบาลสงสฆ์ เคยมีบางครั้งที่แอบไปถวายข้าวของเครื่องใช้ ถวายค่ายาให้พระผู้ป่วยติดเตียงแบบเงียบๆ ที่โรงพยาบาลสงฆ์ก็มี ซึ่งข้อมูลนี้ ไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก
...พระมหาเอื้อน เป็นทั้งพระนักปาฐกถา นักแสดงธรรม และนักบรรยายความรู้ ชนิดแบบขวานผ่าซาก พูดจาเอาใจใครไม่เป็น เรียกได้ว่ามะนาวไม่มีน้ำเลยก็ว่าได้ ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็จะไม่บอกว่าดี แต่ถ้าใครเข้าใจและรู้จักท่านจริงๆ จะรู้ว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นแฝงไปด้วยแง่คิดและคติธรรม ซึ่งมีการเล่นคำบ้างตามลีลาปฏิภาณโวหาร และเรื่องที่พูดมักแฝงไปด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนรู้รักสามัคคี ทำความดีเพื่อประเทศชาติ เคารพเทิดทูนสถาบันหลักอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทั้งในวัดหรือในเขตปกครอง ทั้งในหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ
...พระมหาเอื้อน เป็นผู้ริเริ่มในการจัดให้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และในปัจจุบันก็คือพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ก็เป็นผู้ผลักดันให้มีมติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายพระพรชัยมงคลขึ้น
....พระมหาเอื้อน ยามว่างจากปฏิบัติศาสนกิจและสอนหนังสือแล้ว ก็จะหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่นเท่าที่หาได้ใกล้ตัว กับปากกาหรือดินสอแล้วแต่จะหาได้แถวนั้น เขียนร่างฉันท์ถวายพระพรบทใหม่ๆ อยู่เสมอ บางทีก็ไปเอาของเก่ามาแก้ใหม่ ปรับปรุงใหม่ ใช้คำใหม่ ให้ดีขึ้น ไพเราะขึ้น กระชับขึ้น ปรับแก้อยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะได้ฉันท์สวดถวายพระพรที่ใช้สวดในคณะสงฆ์แต่ละครั้ง บางครั้งออกตรวจการณ์คณะสงฆ์ก็จะหอบเอาไปแก้ด้วย ประมาณว่าถ้าเป็นเพชร ก็เจียแล้วเจียอีก เจียแล้วเจียอีก เจียจนได้เพชรเม็ดงามนั่นแหละ ทั้งหมดทั้งมวลก็ด้วยใจที่ประสงค์จะให้ฉันท์ถวายพระพรออกมาดีที่สุด
...พระมหาเอื้อน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรพิเศษ ฉันข้าวต้มกับปลาสลิดเหมือนพระเถระผู้เฒ่าทั่วไป วันไหนต้องไปตรวจการณ์คณะสงฆ์แต่เช้า ก็ต้มมาม่าฉันสักห่อก่อนออกเดินทาง ไม่ได้ฉันอะไรหรูหราฟุ่มเฟือย บางเพลฉันเพียงเพียงผัดกระเพรากล่องเดียวก็มี มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น ใช้ชีวิตในสมณเพศโดยยึดหลัก 3 ท. ทำธรรม ทำงาน ทำคน เป็นพระที่ไม่เคยถือยศถือศักดิ์ ไม่เคยถือเนื้อถือตัว เป็นกันเอง เป็นคนที่หน้าดุ ปากดุ แต่หัวใจไม่เคยดุ ใครที่ได้ใกล้ชิดกับท่านมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปากร้าย ใจดี เคยมีเรื่องเล่าขำๆ ระหว่างท่านกับลูกศิษย์ท่านหนึ่งที่ถามแกมหยอกว่า พระพรหมดิลกอยู่มั้ย ? ท่านก็บอกว่า อยู่ในตู้นู่น เจ้าลูกศิษย์คนนั้นก็ถามต่อไปว่า แล้วรูปที่นั่งอยู่นี่ใคร ? ท่านก็ตอบยิ้มๆ ว่า หลวงตาเอื้อน
...พระมหาเอื้อน เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการปกครอง เป็นผู้ที่ใช้พระเดชและพระคุณในการบริหารงานควบคู่กันไป เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ เด็ดขาด และเด็ดเดี่ยว คอยสอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรและพระสังฆาธิการในปกครองอยู่เสมอ ทำให้ท่านเป็นที่รักเคารพนับถือของพระภิกษุสามเณรภายในวัดและนอกวัด รวมถึงพระสังฆาธิการในเขตปกครอง บางครั้งหลังทำวัตรเย็นเสร็จ หากไม่มีพระหรือผู้ใดมาพบ ก็เดินตรวจรอบวัดดูความเป็นอยู่พระเณร รูปไหนขาดเหลืออะไรก็สั่งให้พระเลขาจัดหาให้ หรือเดินไปเจอเณรน้อยก็มักจะทักทายเรียกอย่างเป็นกันเองว่าลูกเณรเสมอ
...พระมหาเอื้อน เป็นผู้มีอุปนิสัยเกลียดความอยุติธรรมทุกรูปแบบ ไม่ใช่คนที่ทำอะไรเพราะเห็นแก่เงินทองลาภสักการะ มีเรื่องเล่าในหมู่ลูกศิษย์ว่า เคยมีพระวัดหนึ่งแอบเอาเงินมาใส่รถท่านโดยที่ท่านไม่รู้ ได้ยินว่าประมาณหลายแสนบาท พอรู้เท่านั้น ท่านรีบให้คนขับรถตีรถกลับทันทีเพื่อเอาเงินไปคืน โดยท่านบอกว่า ท่านไม่ได้ทำงานเพราะเห็นแก่เงินทอง ท่านทำเพราะมันเป็นงานศาสนา อย่ามาดูถูกกันแบบนี้
...พระมหาเอื้อน เป็นผู้ที่ชอบให้ ให้ทั้งทาน ให้ทั้งวิทยาทาน และให้ทั้งธรรมทาน เป็นพระที่ชอบแจก แจกทั้งทุนการศึกษา แจกทั้งอุปกรณ์กีฬา แจกสิ่งของเครื่องใช้แก่ผู้ที่ขาดแคลน แจกธรรมที่ยกหลักความจริงเอามาเปรียบเปรย เอามาสอน ให้คิดภาพตาม ให้เข้าใจถึงความเป็นจริง อะไรที่ว่าผิดก็ผิด อะไรที่ว่าถูกก็ถูก เคยถูกชมแกมสัพยอกจากพระสังฆาธิการด้วยกันว่า “ตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัดเสียอีก ขนาดไม้บรรทัดยังเรียกพี่เลย”
และนี่ก็คือชีวิตของพระมหาเอื้อน หาสธมฺโม (กลิ่นสาลี)