กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงปม ไม่ตัดผมแกนนำ กลุ่ม กปปส.

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงปม ไม่ตัดผมแกนนำ กลุ่ม กปปส.

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงข้อสงสัยของสังคมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง กรณีของการไม่ดำเนินการตัดผมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ นั้น

8 แกนนำ กปปส. ได้รับการ ปล่อยตัว

กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงว่า กรณีการไม่ตัดผมแกนนำกลุ่ม กปปส. นั้น โดยแนวทางปฏิบัติทั่วไป เมื่อบุคคลใดต้องโทษเข้ามาในเรือนจำและทัณฑสถาน จะได้รับการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอน คือ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจค้นตัวตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโดยแพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาล ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่เข้าอบรบชี้แจงระเบียบ การปฏิบัติตน รวมถึงการใช้ชีวิตในเรือนจำ ซึ่งในกรณีของ นายสุเทพฯ พร้อมกับพวก เรือนจำฯ ก็ได้ดำเนินการตามระเบียบ และขั้นตอนตามที่กล่าวข้างต้นอย่างไม่มีข้อยกเว้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้รับตัว นายสุเทพฯ พร้อมกับพวก คือ เวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจค้นตัว และคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วเสร็จ ในเวลาประมาณ 22.45 น. ซึ่งสมควรแก่เวลาที่ต้องแยกขัง และในวันต่อมา เวลาประมาณ 08.30 น. นายสุเทพ พร้อมกับพวกได้ออกพบทนายความ กระทั่งถึงเวลา 10.30 น. ทั้งหมดได้ออกพบแพทย์ตรวจอาการ ตามที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่พยาบาล จนดำเนินการแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 14.45 น. โดยเวลาดังกล่าวเป็นเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่ผู้ต้องขังต้องเตรียมตัวขึ้นเรือนนอน จึงยังไม่ได้ดำเนินการตัดผมของนายสุเทพฯ พร้อมพวก จนกระทั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 08.30 น. ทางเรือนจำฯ ได้รับการประสานงานว่าให้นำตัวนายสุเทพฯ และแกนนำกลุ่ม กปปส. ทั้งหมดไปยังที่ทำการพัศดีเวร เพื่อรอการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องจึงเป็นเหตุที่นายสุเทพฯ พร้อมกับพวก ยังไม่ได้รับการตัดผมตามระเบียบกรมราชทัณฑ์

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ตนขอให้สังคมและประชาชนทุกฝ่ายเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นมาตรฐาน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยยึดถือกฎ ระเบียบ และวินัยต่างๆ ที่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด