กรมอุทยานฯ เดินหน้า เเก้ปัญหา ช้างป่า กับ คน ต้องอยู่ร่วมกันได้

กรมอุทยาน สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช แก้ปัญหาจริงจัง คน เเละ ช้างป่า ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ความเสียหาย ผลกระทบ ต้องลดลง!

เรื่องของช้างป่ากับคน จะอยู่ร่วมกันได้จริงหรือ ?

เป็นคำถาม เมื่ออีจันได้มาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ได้ลงพื้นที่จริงๆ ฟังจากปากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ การดูเเลช้างป่าในเขตนั้น … ยากเหลือเกิน

ปัจจุบัน ในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย จันทบุรี สระเเก้ว ฉะเชิงเรา ระยอง เเละตราด มีสมาชิกช้าง 463 ตัว

ทำไมถึงดูเเลยาก ?

ก็เพราะว่า ปกติเเล้ว ช้างมันมีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นโขลง ไปไหนไปกัน มีพื้นที่ มีเขตเป็นของตัวเอง เรียกง่ายๆ คือ เจ้าถิ่น

เเต่ช้างมีความเป็นอยู่เเตกต่างกันนะรู้ยัง ?

พี่ศุภกิจ วินิจพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการ การจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า เล่าให้อีจันฟังว่า ช้างจะเเบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ช้างที่อยู่ในพื้นที่เดิม ปรับตัวได้ยาก ไม่ออกนอกพื้นที่ไปไหน

2. ช้างที่ปรับตัวเก่ง อยู่ที่ไหนก็ได้ มักจะเดินไปเรื่อย

3. ช้างเร่ร่อน กลุ่มนี้อันตราย เพราะ เป็นช้างที่ปรับตัวได้เก่งมาก ฉลาด หาทางออกนอกพื้นที่ตลอด ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะทำการกักพื้นที่ เเต่ก็ออกไปได้เสมอ

กลุ่มที่ 2 เเละ 3 ต้องเฝ้าระวัง!!!

เพราะ การที่เดินออกนอกพื้นที่เฝ้าระวังของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะทำให้เจ้าหน้าที่ดูเเลยากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดนี้ บริเวณรอบๆ จะมีพื้นที่เเปลงเกษตร พื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เเละกลายเป็นเเหล่งน้ำ เเหล่งอาหารของช้างป่าเหล่านี้

เเต่ … เมื่อพี่ช้างเข้าพื้นที่

ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น ทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งทำร้ายชาวบ้านและที่โหดร้ายที่สุด คือ มีผู้เสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงต้องมานั่งคิดกันใหม่ จะทำยังไง เพื่อควบคุมพื้นที่ของช้างป่าได้ โดยที่คนต้องไม่ได้รับผลกระทบ

เจ้าหน้าที่จึงได้มีการบริหารจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยการจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก่อน มีการสำรวจประชากรช้าง ศึกษาวิธีการควบคุมประชากรช้างป่า การเคลื่อนย้ายช้างป่า จนไปถึงการฟื้นฟูถิ่นอาศัย ส่วนการจัดการพื้นที่นอกเขตดูเเล เจ้าหน้าที่ได้มีการ ปรับปรุงและฟื้นฟูทุ่งหญ้า พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล จัดทำแหล่งน้ำเพื่อช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ สร้างสิ่งกีดขวางป้องกันจัดทำระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า

เเต่การเเก้ไขปัญหาเเบบนี้ ไม่ได้เป็นการเเก้ไขปัญหาระยะยาว สำเร็จเพียงเเค่ 60% เท่านั้น เพราะ ด้วยพฤติกรรมของช้างป่า กลุ่ม 2 เเละ 3

เเต่!!! “ถ้าเอาข้อเท็จจริง จริงๆ ช้างต้องอยู่ส่วนช้าง คนต้องอยู่ส่วนคน ช้างป่า เเละ คน อยู่ด้วยกันไม่ได้”

นายวีระพงษ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน บอกไว้

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้มีการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านเรื่อยๆ ให้ความรู้ เเละ สอนวิธีการรับมือ เมื่อช้างป่าบุกพื้นที่ จะต้องทำอย่างไร ก็จะมีชาวบ้านที่เข้าใจความธรรมชาติของช้าง เเต่อีกส่วนหนึ่งไม่เข้าใจบ้าง เพราะได้รับผลกระทบหนักจริง

เเละเพื่อเพิ่มการดูเเลให้ครอบคลุม เเละความปลอดภัยของประชาชน กรมอุทยานสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช ได้พาอีจันลงพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชกิตติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมาหาวัชรราชธิดา เพื่อติดกล้อง Camera Trap Realtime (กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า)

กล้องนี้ เป็นกล้องที่จะถ่ายภาพเมื่อมีอะไรผ่านหน้ากล้อง นี่เป็นอีกสิ่งหนี่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่งานได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิม เพราะ เมื่อช้างป่าเดินผ่าน กล้องก็จะถ่ายเเละส่งภาพไปยังเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วินาที เจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนก็จะได้รับเเจ้ง ว่ามีช้างออกนอกพื้นที่

เจ้าหน้าที่ยังบอกอีกว่า เห็นกล้องเเบบนี้ในป่า อย่าขโมยเชียวนะ เพราะ เอาไว้ใช้ประโยชน์!

เเต่การเเก้ปัญหาระหว่าง ช้างป่า กับ คน ก็ยังต้องเเก้กันไปเรื่อยๆ เพราะ ถึงอย่างไรนั้น ก็ยังไม่มีวิธีที่จะทำให้ช้างป่าอยู่กับคนได้ โดยที่คนไม่ได้รับผลกระทบ

สุดท้ายเเล้ว ช้างป่ากับคน จะอยู่ร่วมกันได้จริงหรือ ? ทุกคนคิดว่ายังไงคะ ?

คลิปอีจันแนะนำ
“เงินกองทุนน้ำมัน หลายแสนล้าน…หายไปไหน” #สิบล้อขอน้ำมัน 25 บาท