ครม. อนุมัติงบกลาง วงเงิน 1,848 ล้านบาท เป็น ค่าจ้าง สพท. และ โรงเรียน

ครม. อนุมัติงบกลาง วงเงิน 1,848 ล้านบาท เป็น ค่าตอบแทนและค่าจ้าง ผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สำหรับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)และโรงเรียน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้าง ผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน กรอบวงเงิน 1,848 ล้านบาท

การจัดสรรงบกลางดังกล่าว มาจากข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรี ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ทั้งธุรการโรงเรียน ครูคลังสมอง และตำแหน่งอื่นๆ ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งการสอนและสนับสนุนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล สามารถรักษาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานด้านเอกสาร ให้ครูไม่ต้องเจียดเวลาการสอนไปทำงานธุรการจนกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการสอน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความเป็นมาของการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความจำเป็นต้องจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 61,119 อัตรา 16 ตำแหน่ง เช่น ธุรการโรงเรียน ครูรายเดือนเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนครูขั้นวิกฤต และครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ซึ่งข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2564 ต้องใช้งบประมาณ 8,315 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,063 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ สพฐ. ได้ขอรับการจัดสรรงบกลางส่วนที่ยังขาดอีก 3,251 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่ สพฐ. ขอมา แต่อนุมัติกรอบวงเงิน 1,848 ล้านบาท เท่าที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อมูล ณ เดือนม.ค. 65 มีการจ้างอยู่ 58,873 อัตรา เนื่องจากมีการลาออกของลูกจ้างไปแล้ว 2,246 อัตรา

นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อบุคลากรทางการศึกษา จึงเห็นชอบให้มีการจัดสรรงบกลาง เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการศึกษา จะส่งผลสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงต้องให้ความมั่นคง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูยังอยู่ในระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ และการศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน