ผอ.โครงการชลประทานนครราชสีมา ย้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างยังไม่แตก

พี่น้องโคราช อย่าเพิ่งตระหนก ผอ.โครงการชลประทาน นครราชสีมา ย้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ยังไม่แตก ! เตือนอำเภอด้านท้ายอ่าง 8 อ. อพยพไปที่ปลอดภัย เก็บทรัพย์สินไว้ที่สูง

วันที่ 26 ก.ย. 64 นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ย้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง “ยังไม่แตก”

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา มีระดับน้ำเก็บกัก 41.96 ล้าน ลบ.ม. (151.49%) ซึ่งเกินระดับเก็บกักสูงสุด และมีน้ำส่วนเกินไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.เทพารักษ์ และ อ.ด่านขุนทด เป็นปริมาณมากไหลลงสู่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง

จนกระทั่งวันนี้ (26 กันยายน 2564) เวลาประมาณ 13.00 น. น้ำเกิดไหลข้ามทำนบชั่วคราวของบ่อก่อสร้าง และข้างตัวอาคาร กว้างประมาณ 15 เมตร จึงได้ใช้ช่องทางระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารระบายน้ำ เพื่อเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระบายน้ำ แทนที่จะต้องตัดคันดินที่ต้องเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อที่ต้องการให้ปริมาณน้ำออก เท่ากับหรือมากกว่าน้ำเข้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวทำนบดินอ่างเก็บน้ำ ซึ่งยาว 3,600 ม.

ปัจจุบัน อัตราการไหลของน้ำผ่านช่องทางทุกช่องทาง ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที เท่ากับอัตราการไหลเข้าของน้ำเข้าอ่างฯ และขอย้ำว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

มื่อเวลา 21.00 น. ผู้สื่อข่าว NBT ได้สัมภาษณ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์ที่ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา โดยรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า “ ลำเชียงไกร ไม่ได้แตก” จุดที่เกิดปัญหา คือ จุดที่มีไซด์งานก่อสร้าง อาคาร และทางระบายน้ำ โดยผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70

แต่ขณะก่อสร้าง มีฝนตกหนัก และน้ำจากตัวอ่างลำเชียงไกร มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง ทำให้น้ำล้นสปินเวย์ มาสมทบกับตรงจุดก่อสร้าง ประกอบกับ ช่วงก่อสร้างใช้ทำนบดินกั้นขวางทางน้ำ เมื่อน้ำมากจึงกัดเซาะทำนบดินไซด์ก่อสร้าง ชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้ดูเหมือนตัวอ่างชำรุด จริงๆ แล้วไม่ใช่

ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวยืนยันว่า ตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่าง จึงทำให้น้ำล้น ขณะนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ท้ายอ่าง ให้ระมัดระวัง น้ำมากที่ล้นอ่าง และอาจท่วมได้ แล้ว

โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา แจ้งเตือนการระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ฉบับที่ 2 มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเป็นจำนวนมาก (ข้อมูล ณ เวลา 14.09 น.วันที่ 26 ก.ย.64) ระบายน้ำลงลำน้ำเดิม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน 101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขา มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝังลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้อำเภอด้านท้ายอ่างฯ ได้แก่ อำเภอโนนไทย พระทองคำ เมืองนครราชสีมา โนนสูง พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้ม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง

2. ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทาน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่

3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด

4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน

6. รายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินการ ตามแบบรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยพร้อมภาพถ่ายให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาทราบทันที จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

คลิปอีจันแนะนำ
ชีวิตน่าเวทนาของเด็กหญิง 9 ขวบ