พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เปิดตัว “เครื่องจ่ายออกซิเจน ควบคุมทางไกล

คนไทยเจ๋ง! สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำสำเร็จครั้งแรก เปิดตัวต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” ควบคุมทางไกล

ในสถานการณ์โควิด ณ ขณะนี้ อุปสรรคในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่ อีจันได้รับเเจ้งและขอความช่วยเหลือมาจากลูกเพจ อีจัน มีทั้งเรื่อง การป่วยรอรับการรักษา

ทำไมต้องรอรับการรักษา ?

คำตอบที่เราได้มาจากหน่วยงานรัฐ เเละ เอกชน คือ สภาวะผู้ป่วยล้น เตียงไม่พอ อุปกรณ์ทางการเเพทย์ในการใช้รักษา ไม่เพียงพอ จึงต้องมีผู้ป่วยอยู่ในสถานรอ…. นี่คือความจริงที่เราเจอ

แต่ตอนนี้ มีข่าวดีคนไทย ข่าวดีวงการแพทย์ไทย มาบอกค่ะ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำสำเร็จแล้ว! คิดค้นต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย

ที่สำคัญคือ จากที่อีจัน ได้สอบถามคือ การตั้งราคาเครื่อง จะมีราคาที่ถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า

เยี่ยมไปเลยค่ะ

อีจัน ได้ข้อมูลจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก จนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะการคิดค้นและลงมือสร้าง “เครื่องช่วยหายใจ” ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยอาการหนัก

โดยล่าสุด นักวิจัย สจล. ได้คิดค้นและพัฒนาต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูงเป็นครั้งแรก ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล ซึ่งเครื่องนี้ ตั้งใจทำขึ้นเพื่อ ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ให้น้อยลง ลดภาระงานและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินเข้า-ออกบริเวณหอผู้ป่วย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

และในอนาคตอันใกล้นี้ สจล. ยังมีแผนพัฒนา “ตู้เก็บวัคซีน” ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและคงประสิทธิภาพของวัคซีน โดยที่บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สามารถติดตามอุณหภูมิภายในตู้ได้ 24 ชั่วโมง

อธิการบดี พูดมา 1 ประโยค ที่ จัน เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ

“ ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด”

ซึ่งทาง สจล. มีวิสัยทัศน์ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคม ในฐานะ The World Master of Innovation โดยเฉพาะในสถานการณ์นี้ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทย เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้และเริ่มต้นใช้ชีวิตวิถีใหม่ไปพร้อมกัน

ด้าน นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยร่วม “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เล่าเพิ่มว่า

เครื่องจ่ายออกซิเจน ควบคุมทางไกล มีคุณสมบัติเพื่อช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วย โดยแพทย์จะกำหนดอัตราไหลเวียนอากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ต้องการ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ก่อนปล่อยผ่านทางจมูก (Nasal Cannula) ได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนที่แน่นอน ถูกต้อง

และมีความพิเศษเพิ่มเติม คือ สามารถปรับเปลี่ยนการช่วยการหายใจได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องเดินไปถึงข้างเตียง โดยจะมีระบบเสียงแจ้งเตือนเมื่อผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำเกินไป

“และในอนาคตอันใกล้ ทีมวิจัยเตรียมพัฒนาเครื่องนี้ให้สามารถวิเคราะห์หรือปรับความความเข้มข้นของออกซิเจนได้ ตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะออกซิเจนในเลือด ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะใช้ AI พัฒนาเครื่องมือแพทย์ทุกชิ้นของ สจล. เพื่อรองรับการแพทย์ทางไกล (Telehealth)”

เรื่องสำคัญ ที่หลายคน อาจอยากรู้

รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บอกว่า “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” มีต้นทุนการพัฒนาที่ 55,000 บาท ถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า ซึ่งมีราคาจำหน่ายประมาณ 200,000 – 300,000 บาท”

โดยปัจจุบัน “KMITL High Flow” มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS)

ด้าน รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้อํานวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) กล่าวทิ้งท้ายว่า

“หากผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่คิดและพัฒนาโดยนักวิจัย ได้รับการสนับสนุนงบฯ ลงทุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการผลิตและกระจายสู่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่มีความขาดแคลน จะสามารถช่วยลดมูลค่าการนําเข้าได้จำนวนมาก พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนไทยในอนาคต “

สำหรับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตลอดจนภาคประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้รุดหน้ายิ่งขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ได้

ติดตาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
• Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/kmitlofficial
• Website: http://kmitl.ac.th