พลาสติก มีค่า! ถนนรีไซเคิล จากขยะ โปรเจกต์เก๋ของ ดร.เป้า Green Road

ถนน – บล็อก รีไซเคิล จาก ขยะพลาสติก โปรเจกต์เก๋ของ ดร.เป้า Green Road

“ขยะ” ที่อยู่บนโลกของเรามีอยู่อย่างมหาศาล โดยเฉพาะ “พลาสติก” เพราะในปัจจุบัน มนุษย์เรายังคงต้องพึ่งพาพลาสติกในการดำรงชีวิต แม้ว่าจะมีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก แต่ก็ยังสามารถทำให้การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันลดน้อยลงไป และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัด ขยะพลาสติก ให้หมดไปจากโลก

แต่เชื่อไหมว่า มีคนที่พยายามหาวิธีกำจัดพลาสติก โดยต้องทำการคัดแยกและนำขยะพลาสติกเหล่านี้ ไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเจ้าพลาสติกนี่แหละ เอาไปใช้ทำถนนได้!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะมันทำได้จริงๆ

“อาจารย์เป้า” หรือ ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือผู้ริเริ่มนำพลาสติกไปทำถนน และทีมอีจัน ก็ได้ไปเจอกับอาจารย์เป้าค่ะ

#ถนนรีไซเคิลจากขยะพลาสติก ทำได้จริงหรือ?

ภาพที่เห็นตรงหน้า คือโรงงานที่มีแต่ ขยะ ที่นี่คือโรงงาน Green Road ขยะกองโตที่ถูกส่งมาจากทั่วสารทิศในประเทศไทย ขยะพวกนี้แทบไม่อยากจะเชื่อว่าสามารถนำมารีไซเคิลทำถนน หรือ อิฐบล็อกได้จริง

แต่อาจารย์เป้าทำถนนด้วยพลาสติกแล้วจริงๆ ค่ะ!

เกริ่นกันสักหน่อย… อาจารย์เป้า มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมโยธา จึงเริ่มศึกษางานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และพบว่าขยะพลาสติกมีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ซึ่งจัดเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ ไอเดียเปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นวัสดุทดทดแทนจึงเกิดขึ้น

“พลาสติกกับยางมะตอย มันทดแทนกันได้ เพราะมันเป็นปิโตรเคมีที่มาจากการกลั่นของปิโตรเลียมเหมือนกัน”

คำถามคือทำยังไง? ถนนที่แข็งแรงเพราะมีซีเมนต์ กับ ยางมะตอยเป็นส่วนผสม แต่ขยะ…ไม่ได้มีความแข็งแรงและคงทน

อาจารย์เป้า บอกกับเราว่า ปัจจุบัน มีขยะหลากหลายถูกส่งมาให้ที่โรงงาน ทั้งที่เป็นถุงพลาสติก ถุงวิบวับหรือถุงอลูมิเนียมฟอยล์ เราก็นำถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ ถุงยืด และถุงเย็น (LDPE) มาย่อยให้ละเอียด แล้วก็นำเข้าเครื่องหลอมด้วยความร้อน จากนั้นขึ้นรูปเป็นบล็อกปูถนน เฟอร์นิเจอร์ หรือจะทำเป็นรูปทรงไหนก็ได้ตามแต่เราต้องการ

บล็อกและถนนจะใช้พลาสติกชนิดอ่อน ขั้นตอนแรกคือการแยกชนิดของพลาสติกออกมา เพราะวัสดุแต่ละชนิดมีจุดหลอมเหลวต่างกัน ถ้าเอาไปรวมกันหมดโดยไม่คัดแยก อาจทำให้ชนิดใดชนิดหนึ่งไหม้ไปก่อนได้

ในส่วนนี้ อาจารย์เป้าบอกกับเราด้วยนะว่า วัตถุดิบชั้นดีของการทำบล็อกคือ ถุง เพราะถุงใช้อุณหภูมิในการหลอมต่ำกว่าพลาสติกชนิดอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 140-150 องศาเซลเซียส

พอเราแยกประเภทแล้ว ก็ต้องเอาขยะพลาสติกมาล้างให้สะอาด และย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นก็เอามาผสมกับทรายที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส

“การขึ้นรูปอิฐบล็อกธรรมดาอาจใช้อุณหภูมิแค่ 100 – 200 องศาเซลเซียส แต่สำหรับบล็อกพลาสติกต้องใช้อุณหภูมิเกือบ 500 องศา ต้องเผาควันให้สะอาด เลยต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่าการผลิต”

เมื่อทรายและพลาสติกผสมเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเทลงในพิมพ์ แล้วอัดให้แน่นโดยใช้แม่แรงไฮโดรลิกหรือใช้ตุ้มหนักๆ มาตอก จากนั้นก็ทิ้งให้เย็นตัว แล้วค่อยนำไปแช่น้ำ แค่นี้ก็จะกลายเป็นบล็อกและเอามามาปูพื้นได้

ความแข็งแรง ความทนทานของมันก็ได้มาตรฐาน แม้จะไม่เท่าคอนกรีต แต่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า ที่สำคัญมีน้ำหนักที่เบากว่าอีกด้วย อาจารย์เป้าลองให้เราโยนอิฐน้องแมว ลงพื้นทดสอบความแข็ง ทนทานด้วยนะ

ส่วนถนน อาจารย์เป้าทำออกมาแล้วและสามารถใช้งานได้จริง

อาจารย์เป้า อธิบายขั้นตอน วิธีการแบบไม่มีกั๊กให้ฟังว่า…

ตามปกติแล้ว ถนนปกติทั่วไปจะประกอบไปด้วยหิน 4 ชนิด คือ

1.หินเศษ 3 ส่วน 4

2.หินเศษ 1 ส่วน 2

3.หินเศษ 3 ส่วน 8

4.หินเกร็ด หรือหินฝุ่นเล็กๆ

จากนั้นเราจะนำหินทั้ง 4 ชนิดผสมกัน และอุณหภูมิต้องร้อน 180-200 องศาเซลเซียส แล้วจากนั้นเอายางมะตอยไปอุ่นให้มันร้อนประมาณ 170-180 องศาเซลเซียส แล้วนำมาผสมรวมกัน จากนั้นก็เอาไปเท แล้วก็บด

แต่โครงการของเราก็คือ เราเอาขยะพลาสติกที่ย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ มาบดรวมกับทราย เศษแก้ว บดให้ละเอียดให้เป็นผง เอามาใส่ในยางมะตอย ซึ่งถนน 1 ตารางเมตรใช้ขยะพลาสติกอยู่ที่ 1 กิโลกรัม ส่วนบล็อกสี่เหลี่ยม 1 ตารางเมตรใช้ขยะพลาสติก 40 กิโลกรัม

“ถ้าทำถนน ใน 1 วัน แล้วไม่มีอุปสรรคหรืออะไรติดขัด ผมสามารถทำถนนได้ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือ 2 กิโลเมตร แล้วแต่เครื่องจักร เพราะฉะนั้นมันก็จะลดขยะพลาสติกไปได้ ประมาณ 3-5 ตัน ส่วนการทำบล็อก 1 ตารางเมตรจะใช้พลาสติกราวๆ 30-40 กิโลกรัม แม้จะมีระยะเวลาการผลิตที่นานกว่า แต่ก็ช่วยลดขยะได้ในปริมาณมากเช่นกัน”

อาจารย์เป้ายกตัวอย่าง บล็อกแมว 1 อัน หนักประมาณ 4 กิโลกรัม ก็ใช้ขยะประมาณ 4 กิโลกรัม

เราถาม… ที่อาจารย์เป้ากำลังทำอยู่ตอนนี้ เป็นธุรกิจไหม?

อาจารย์เป้าตอบแบบอารมณ์ดีว่า “เจ๊ง” เพราะว่า ผลิตเพื่อขายทำได้ แต่มันไม่มีคนซื้อ ราคายังสูง เพราะเรายังแบกรับต้นทุนอยู่ อธิบายง่ายๆ ถ้าเราไปซื้อเม็ดพลาสติกแล้วเอามาทำ สะอาด ง่าย ไม่มีควัน ไม่ต้องมีกระบวนการอะไรที่ซับซ้อน แต่ขยะที่มีคนบริจาค ที่เรารับมามันต้องมาคัดแยก มีขั้นตอนอีกหลากหลาย ทั้งต้นทุนขนส่ง ต้นทุนการผลิต

ตอนนี้โปรเจกต์เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุทดทดแทนขยายใหญ่มากจากเดิมที่มีแต่คำถามว่า จะทำได้จริงเหรอ ปัจจุบันมีกลุ่มจิตอาสานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาเข้าร่วมภายใต้ชื่อ Green Road ช่วยกันเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทดลองทำเป็นบล็อกปูถนน หลังคา ซึ่งผลการทดลองผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากขยะพลาสติกบางอัน มีประสิทธิภาพดีกว่าต้นฉบับเสียด้วย

หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงสงสัยว่า ถนนขยะ – อิฐบล็อกขยะรีไซเคิล มาเชื่อมโยงกับอีจันได้ยังไง

คืออย่างนี้นะลูกเพจ หลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า อีจัน กำลังทำโปรเจกต์บุญใหญ่ นั่นคือ การสร้างโรงเรียนเพื่อน้องเด็กพิการ 9 ประเภท ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

อีจัน ชวนสานฝัน สร้างโรงเรียนเพื่อน้อง เด็กพิเศษ

ตอนนี้เราปรับพื้นที่ เตรียมอะไรหลายๆ อย่างคืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งเราก็มานั่งคิดกันต่อว่า เราไม่ได้แค่สร้างโรงเรียนให้น้องๆ แล้วจบ ภูมิทัศน์โดยรอบก็สำคัญ ถนนเอย บล็อกสวยงามเอย สิ่งพวกนี้ควรมี!

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงบินตรงไปหา อาจารย์เป้า กันถึงเชียงใหม่

ไปเพื่อดูว่า ถนนใช้งานได้จริงไหม? อิฐบล็อกคงทนจริงหรือเปล่า

เกือบลืมบอก เราไปดูถนนที่สร้างมาจากขยะด้วยนะ อยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม ต้องบอกเลยว่า ไม่แตกต่างจากถนนปูนซีเมนต์ หรือยางมะตอยเลย ก็คือแยกไม่ออกจริงๆ ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้เลยค่ะว่าทำมาจากขยะ ทึ่งไหมล่ะ!

สุดท้าย… เดี๋ยวมาติดตามกันต่อนะว่า โรงเรียนเพื่อน้อง เด็กพิเศษ จะมีถนนรีไซเคิลจากขยะ และอิฐบล็อกสวยๆ ไหม แต่น่าจะมีข่าวดีนะ ^^