รมว.ดีอีเอส ยัน ระบบธนาคารยังแข็งแรง เชื่อมีคนไทยเอี่ยว ดูดเงิน

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ยัน ขอให้เชื่อมั่น ระบบความปลอดภัยของธนาคาร เตรียมร่าง พรฎ.ควบคุมดูแลธุรกิจออนไลน์ คุ้มครอง ปชช. เชื่อมีคนไทยร่วมกระบวนการนี้แน่นอน !

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียหายกว่าหมื่นราย ถูกโอนเงินออกจากบัญชีตัวเองโดยไม่มีข้อความแจ้งเตือนใดๆ ซึ่งจำนวนเงินที่ถูกโอนออกจากบัญชี มีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น

แบงก์ชาติ แจง ข้อมูลไม่ได้รั่ว เร่งปิดบัญชีที่พบสิ่งผิดปกติ

วันนี้ (18 ต.ค. 64) เวลา 11.30 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล หรือ ดีอีเอส แถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า เบื้องต้นกำลังร่างกฎหมายเตรียมส่งเข้าให้ ครม.พิจารณา เพื่อคุ้มครองประชาชนในการซื้อขายออนไลน์ โดยจะให้ทุกร้านค้าที่ประกอบการทำธุรกิจออนไลน์ เข้ามาจดแจ้งขึ้นทะเบียนการทำธุรกิจออนไลน์ โดยให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับของอีดีเอส เช่น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลไปตัดบัญชีโดยที่เจ้าตัวของบัญชีไม่ได้เป็นผู้ทำธรุกรรมนี้ด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่จะเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนรอนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด เพื่อไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชน ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่เราดำเนินการอยู่ เช่น การยืนยันตัวตน การมีตัวแทนในประเทศไทยที่รับผิดชอบต่อประชาชน มาตรการโอนเงินต้องมีระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น เป็นต้น ป้องกันไม่ให้ถูกหักเงินจากบัญชีโดยเจ้าของไม่รู้ตัว และให้ความคุ้มครองประชาชน

ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจว่า ระบบความมั่นคงปลอดภัยของธนาคารยังแข็งแรง แต่ผู้ใช้บริการไปให้ข้อมูลกับผู้ขาย โดยปัญหาเกิดจากประชาชนที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ถูกเจ้าของร้านค้าออนไลน์ ลักลอบนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ตัดเงินจากบัญชีบัตรมากกว่า 1 ครั้งที่ ทำเสมือนมีการซื้อขายทั้งๆ ที่ความจริงไม่มี ถือเป็นการฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์

“เบื้องต้น ได้มีการชี้แจงจากแบงค์ชาติและสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เกิดจากการทำธุระกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกลับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้”

นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาที่เกี่ยวกับเอสเอ็มเอสฉ้อโกง เมื่อคลิกเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะถูกดูดข้อมูลส่วนตัวไปใช้หักเงินจากบัญชีนั้น กระทรวงฯ ได้ประสานไปยังทาง กสทช. และผู้ให้บริการมือถือทุกค่าย ให้คอยตรวจสอบผู้ที่มาใช้บริการส่งเอสเอ็มเอสไปถึงประชาชน ว่าธุรกิจมีความถูกต้อง ถูกกฎหมาย หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าเป็นการส่งเอสเอ็มเอสที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย ก็ให้บล็อกหรือปิดกั้นทันที ปัจจุบันทุกฝ่ายยอมรับหลักการนี้แล้ว และพยายามดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เอสเอ็มเอส ส่งง่ายทั้งที่เป็นแบบส่งไปยังผู้รับกลุ่มใหญ่ๆ หรือส่งรายบุคคล ถ้าประชาชนพบเอสเอ็มเอสที่ไม่เหมาะสม ให้รีบแจ้งมายัง กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและปิดกั้นให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ก็มีระบบ social listening คอยมอนิเตอร์อยู่ด้วย

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่าหมื่นราย รมว.ดีอีเอส ยืนยันว่าจับได้ทุกคนแน่นอน แม้เงินจะถูกดูดไปยังบัญชีที่อยู่ต่างประเทศ แต่เชื่อว่าต้องมีคนไทยร่วมในขบวนการนี้แน่นอน

สำหรับผู้เสียหายจากการถูกหักเงินผ่านบัญชีอัตโนมัติโดยไม่ได้ให้ความยินยอม เชื่อว่าจะได้รับเงินคืนจากธนาคารแน่นอน อย่างไรก็ตามกรณีที่มีข้อติดขัดในการประสานงานกับธนาคารผู้ออกบัตร สามารถแจ้งมาที่ ETDA ได้ผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือ email: [email protected] เพื่อจะช่วยประสานงานให้ต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
ป้าขอร้อง ขอให้จบที่หลานตาย เขารับผลไปแล้ว จากเหตุ #บาสมีดคู่