สมาคมภัตตาคารไทย ลุย ช่วยธุรกิจร้านอาหาร ยื่นหนังสือขอเยียวยา ถึง นายกฯ

วิกฤตหนัก สมาคมภัตตาคารไทย ลุย ช่วยธุรกิจร้านอาหาร ยื่นหนังสือขอเยียวยา ถึง นายกฯ ผ่าน 7 ข้อเสนอ

โควิด-19 พ่นพิษ ทำธุรกิจร้านอาหาร และบริการเจ็บหนัก!!!

ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ค. 64) นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เรื่อง “นำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก สมาคมภัตตาคารไทย ในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร จึงขอนำเสนอมาตรการความช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

ส่วนที่ 1 ความช่วยเหลือด้านภาระต้นทุน ค่าใช้จ่าย

1.1 ช่วยเหลือค่าเช่าร้าน เพราะขาดรายได้จากการงดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน ออกคำสั่งที่มีนิยาม คุณสมบัติ ข้อกำหนดที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการขอลดค่าเช่ากับผู้ให้เช่า ช่วยเหลือค่าเช่าคนละครึ่ง ช่วยประสานงานกับผู้ให้เช่า เจ้าของห้างสรรพสินค้า ให้ลดค่าเช่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เจ้าของที่ดิน อาคาร บุคคลทั่วไป ที่ให้ร้านอาหารเช่า สามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไป เพื่อจูงใจให้เกิดการ ลดค่าเช่าตามมา

1.2 มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เงินทุน

งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน

ขอให้รัฐบาลงดจัดเก็บภาษีโรงเรือน จากเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เป็นเวลา 2 ปี

ออกมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รอบบิลเดือนเมษายน 2564 เป็นเวลา 6 เดือน

จัดแหล่งเงินกู้ และให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจ โดยสามารถให้ยื่นขอสินเชื่อได้อย่างง่าย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งลูกหนี้รายใหม่ รวมถึงลูกหนี้รายเก่าสามารถกูเพิ่มได้ ในวงเงินที่เคยกู้มาก่อนจากวิกฤตรอบแรก

1.3 มาตรการช่วยเหลือด้านค่าแรงงาน

ขอให้ทางประกันสังคม อนุมัติให้ลูกจ้างซึ่งถูกลดเวลาการทำงาน ลดเงินเดือน หรือหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง เนื่องจากคำสั่ง ศบค. สามารถเบิกประกันสังคมได้ 50 เปอร์เซ็น โดยทันที

ให้กระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการดำเนินการยื่นขอใช้สิทธิ์รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน

จากเหตุสถานการณ์โควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บางส่วนยังมีความสับสนต่อ นิยาม คุณสมบัติ ของผู้ขอรับประโยชนทดแทน เนื่องจากไม่ได้มีคำสั่งให้หยุดกิจการเป็นการชั่วคราว

ชะลอการจัดส่งเงินประกันสังคม ทั้งจากลูกจ้างและนายจ้างสมทบออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

จัดหาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ระยะเวลาผ่อนยาว เพื่อให้ลูกจ้างสถานประกอบการร้านอาหารกู้มาใช้จ่ายในยามจำเป็น

ส่วนที่ 2 ความช่วยเหลือด้านการขาย รายได้

– อนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหารที่เป็นนิติบุคคล สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการของรัฐบาลได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง, ไทยชนะ, ม.33

– มีมาตรการควบคุมค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP จากแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ปัจจุบันอัตราสูงจนเกิดภาระไม่คุ้มทุนของฝั่งร้านอาหาร ให้อยู่ในอัตราเหมาะสมอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ และหรือมีมาตรการช่วยแบ่งเบาค่า GP ดังกล่าว

– ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ มีการจัดตั้งงบประมาณในการจัดหาอาหารเครื่องดื่ม ให้กับหน่วยงาน-เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น โรงพยาบาลสนามตามจังหวัดต่าง ๆ ขอให้ใช้งบประมาณส่วนดังกล่าวนี้ สั่งอาหารเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาหารกล่องแจกแก่ประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤติโควิด ตกงาน ขาดรายได้ หรือให้ความร่วมมือหยุดอยู่บ้าน.

– ขอให้ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมภาคเอกชนที่ยังคงมีศักยภาพ ช่วยกันลงขันจ้างร้านอาหารในท้องถิ่นทำอาหารกล่องเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบ รักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในร้านอาหาร อีกทั้ง ยังมีความสามารถมาอุดหนุนซัพพลายเออร์ และช่วยพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด ซึ่งจะมีผลถึงเกษตรกร ในการสั่งซื้อวัตถุดิบมาประกอบปรุง จะก่อให้เกิดกระแสเงินสดหมุนเวียนหล่อเลี้ยงรายได้ให้กับร้านอาหารเป็นการเฉพาะหน้าได้ โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข คอยควบคุมกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรการป้องกัน

ทั้งนี้ สมาคมภัตตาคารไทยยินดีเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงาน สมาคมร้านอาหาร ชมรมร้านอาหารในแต่ละพื้นที่ให้

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกอาชีพ และขอให้ทุกท่านผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ สู้ๆ ประเทศไทย

อ่านข้อเสนอฉบับเต็มที่นี่