สสส. ห่วงนักดื่ม เยาวชนเริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงเกิดโรค NCDs

สสส. ห่วงนักดื่ม เสี่ยงเกิดโรค NCDs คร่าชีวิตทั่วโลก 40 ล้านคนต่อปี เยาวชนเริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย แนะผู้ปกครองไม่ดื่มให้เห็น ตัดวงจรนักดื่มหน้าใหม่

สสส. ห่วงวัยรุ่นไทย! เริ่มดื่มตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี ยกข้อมูล WHO เผย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดโรค NCDs คร่าชีวิตทั่วโลก 40 ล้านคนต่อปี!

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 64) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “NCDs และนักดื่มหน้าใหม่ ปัญหาท้าทายในสื่อสังคมออนไลน์” เพื่อสะท้อนปัญหาของการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ โดยแอลกอฮอล์ก่อให้เกิด โรค NCDs ทำให้คนเสียชีวิตติดอันกับ 1 ของโลก

โดย เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ยกตัวอย่างข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ระบุว่า พบผู้เสียชีวิตจากกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้องรัง หรือ โรค NCDs ติดอันดับ 1 ของโลก เพราะแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 40 ล้านคนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยพบสถิติการเสียชีวิตด้วยกลุ่ม โรค NCDs ประมาณ 3.9 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเรื่องการใช้ชีวิตและการบริโภคอาหาร ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เรื่องนักดื่มหน้าใหม่ พบอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้ชายจะดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 19.3 ปี และผู้หญิง อายุ 23.7 ปี แต่ที่น่ากังวลคือ พบว่าเยาวชนไทยเริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ สูงถึงร้อยละ 12.2

ขณะที่ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเยาวชนที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสติดสุราจนทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs ในประเทศ จนนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตที่มากขึ้น

สำหรับใครที่ยังงงว่า โรค NCDs คือโรคอะไร?

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ระบุว่า เมื่อพูดถึงกลุ่มโรค NCDs จะนึกถึงโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด ที่มักจะเกิดในวัยผู้สูงอายุ แต่ความจริงมันเป็นระเบิดเวลาที่เริ่มจุดตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย แค่การดื่มวันละ 1 แก้ว ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดและโรคทางสมองหรือพัฒนาการทางสมองได้ และแน่นอนว่าเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เยาวชนมีพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทแย่ลง

ด้าน นางสาวอภิศา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการ “ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” โพธิสัตว์น้อย และโรงเรียนคำพ่อสอน กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เจ้าของธุรกิจร่ำรวยติดอันดับโลก แต่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคมากมาย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่เสี่ยงต่อการป่วยอยู่ในกลุ่ม โรค NCDs นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้ขาดสติและส่งผลกระทบต่อสมอง จึงทำการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ แต่ละช่วงวัยได้รู้จักผลร้ายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าจะทำให้ป่วยเป็นกลุ่ม โรค NCDs อย่างไร

ซึ่งการเลียนแบบจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ก็ส่งผลให้เยาวชนเริ่มดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้กลายเป็นติดสุราได้ในอนาคต โดย นางสาวมาลัย มีนศรี ผู้ประสานงานโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ กล่าวเสริมว่า เด็กปฐมวัยได้เห็นพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนใกล้ชิด ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งหมดนี้เป็นการซึมซับเข้าสู่ระบบสมอง ร้อยละ 80 ของเด็กเล็ก ที่กำลังเจริญเติบโตและฝังสู่จิตใต้สำนึก จนอาจส่งผลกระทบเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น ก็จะเข้าสู่การเป็นนักดื่มได้ง่าย ที่ผ่านมาทางโครงการก็ได้มีการจัดทำแผนการสอนในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาลของโรงเรียน โดยมีสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น นิทาน เพลง เกม ที่ครูจะต้องนำไปบูรณาการกับแผนการสอนในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาลของโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้อบรมเชิงปฏิบัติการกับคุณครู สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองด้วย