สาธารณสุข เปิด โครงการรับยาที่ ร้านขายยา และไปรษณีย์ กระแสตอบรับดี ลดความแออัดโรงพยาบาล

แนวทางที่ดี! สาธารณสุข เปิด โครงการรับยาที่ ร้านขายยา และไปรษณีย์ กระแสตอบรับดี ลดความแออัดโรงพยาบาล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาและผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ว่า การดำเนินงานโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ข้อมูลถึงวันที่ 1 มกราคม 2564 พบว่า มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง โรงพยาบาล 141 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 56 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 15 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง และสังกัดอื่น 12 แห่ง

สำหรับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 29,299 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 61-75 ปี มีการรับยาผ่านร้านขายยาแล้ว 54,730 ครั้ง โดยโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 5,590 คน รับยาที่ร้านยา 8,673 ครั้ง

ขณะนี้มีการเริ่มดำเนินงานรับยาผ่านร้านขายยาในรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาจะมีการสำรองยาไว้เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เมื่อแพทย์สั่งยา ข้อมูลใบสั่งยาจะถูกทบทวนโดยเภสัชกร และส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังร้านยาเพื่อจัดยาและจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เลย

นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 เดือน แต่จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ต้องเข้มข้นเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อโควิด 19 ทำให้ประชาชนตอบรับบริการดังกล่าวอย่างดี จึงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติแผนงบประมาณปี 2564 ให้ สปสช.

สนับสนุนค่าบริการให้กับโรงพยาบาลในการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 – 9 มกราคม 2564 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 217 แห่ง ผู้ป่วยรับบริการ 147,270 คน เกิดบริการรับยาทางไปรษณีย์จำนวน 176,924 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่รับบริการนี้มากที่สุด คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 41,999 ครั้ง นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจัดบริการทางไกล (Telemedicine) ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลและจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยที่รับบริการนี้