หมอแดง ผอ.กองสุขภาพจิต แนะ ความจริง…ที่ทุกคนต้องยอมรับ ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด!

หมอแดง ผอ.กองสุขภาพจิต รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ แนะ ความจริง…ที่ทุกคนต้องยอมรับ กับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด!

คุณหมอ นาวาเอกพรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ หรือ พี่หมอแดง ชื่อที่จันคุ้นเคย
ชวนคิดเล่นๆ ในภาวะวิกฤติที่ไม่รู้ว่าเครื่องช่วยหายใจใน รพ.จะไม่พอวันไหน? และถ้าเราเกิดติดโควิด แล้วอาการหนัก หมดหวังรักษา ต้องย้ายออกจากไอซียู ในวันนั้นเราจะทำใจได้ไหม? และถ้ามันต้องเกิดขึ้นจริงๆ เราจะทำใจอย่างไร? ลองอ่านแนวคิดของหมอแดงดูไหม? เตรียมใจอย่างไร? เตรียมใจไว้บ้างไม่เสียหาย

หมอแดงเล่าง่ายๆว่า โรคไวรัสโควิดจะรักษาหรือไม่รักษาก็สามารถหายได้ และในทำนองเดียวกัน บางรายรักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องมันมีหลายอย่าง ตั้งแต่อายุ โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่ออัตราการตายทั้งสิ้น

คำถาม คือ ถ้าเราติดเชื้อนี้ แล้วป่วยหนักเราจะทำอย่างไร?

จริงอยู่เราป่วยเราก็อยากรักษา แต่ถ้าเตียงมีน้อยกว่าคนที่ป่วย วันที่คนไข้ล้นโรงพยาบาล คำแนะนำคงให้พักรักษาตัวที่บ้าน คนที่มีอาการหนักจะได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล กระทรวงคงมีหลักในการคัดเลือก แล้วยิ่งผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้า ICU จะต้องพิจารณากันที่โอกาสรอดกลับไป แต่ถ้าโอกาสของเราน้อยสุด เราก็คือคนนั้นที่ต้องถูกคัดออก ลองถามตัวเองว่า เราทำใจได้ไหม คู่ชีวิตพ่อแม่ลูกทำใจได้ไหม?

แต่กว่าจะถึงภาวะเช่นนั้น หมอยืนยันจะรักษากันเต็มที่แน่นอน เพียงแต่ในความจริงนั้น ทรัพยากรที่มีไม่ได้มากเพื่อรองรับทุกคนได้ ถ้ามันไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องยอมรับ?

มีเรื่องจริงของร่างกายมนุษย์ ที่หมออยากบอก คือ การรักษาระยะแรกเราคงไม่ทุกข์ทรมาน แต่เมื่อถึงเวลาที่ปอดเริ่มถูกทำลาย ความทุกข์ทรมานก็จะเข้ามาแล้ว ถ้าตอบสนอง ต่อการรักษาดี อาการก็จะทุเลา แต่ถ้าการตอบสนองไม่ดี ปอดยังคงถูกทำลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าทุกคนต้องยอมรับความจริง

เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วดีขึ้นจนถอดท่อได้ มีมากกว่าคนไข้ที่ใส่ท่อแล้วไม่สามารถถอดได้
ดังนั้นก็ยังถือว่าเป็นช่วงที่เรายังพอมีโอกาสรอดแม้ว่าจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่อะไรจะเป็นตัววัด ว่าเราจะรอดหรือไม่รอด ยังไม่มีข้อบ่งชี้หรือตัววัดที่แน่นอน เป็นเพียงแค่การักษาไปเรื่อยๆถ้าดีขึ้นก็ชัดเจนว่าน่าจะรอด

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นการรักษาก็จะเป็นการยื้อไปเรื่อยๆแบบรอความหวัง

จนกระทั่งมีคนไข้คนใหม่เข้ามาโดยเขามีโอกาสรอดมากกว่าเรา..เมื่อถึงภาวะนั้น จริยธรรมและสิ่งที่ควรเป็นจะเป็นตัวเลือกเองว่าเราหมดเวลาแล้ว และต้องออกจากห้องICU

นี่เป็นความจริง…ที่ต้องยอมรับ…เช่นกัน

การใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้ามีเครื่องช่วยหายใจเราก็จะทุเลาความทุกข์ทรมานได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจเราจะไม่สามารถหายใจได้พอกับความต้องการออกซิเจนของ ร่างกาย เราจะเหนื่อยจนไม่สามารถนอน พัก หรือหลับได้เลย

หวังว่าเครื่องช่วยหายใจจะไม่ขาดแคลนในวันนั้น

ถึงเวลานั้น ถ้าเราโชคดีได้แพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการความปวด และความทุกข์ทรมานในผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราก็จะไม่ทุกข์ทรมานมากนัก

และเพื่อยื้อเวลาให้ยาวนานที่สุด ไม่ให้เราเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติทรัพยากรทางการแพทย์ขาดแคลน และช่วยให้กำลังใจนักรบแนวหน้าในสงครามไร้พรมแดนครั้งนี้ เราคงต้องช่วยกัน

หมออยากชวนให้ช่วยบริจาคปัจจัยเล็กๆน้อย ตามความสะดวก ตามฐานะ ทำได้ทุกที่ หรือถ้าท่านสะดวกในการโอนผ่านมือถือผ่านบัญชี

มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือในพระบรมราชินูปถัมภ์
บัญชีธนาคารทหารไทย หมายเลข 302-2-60354-6

ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีให้ส่งสำเนาการโอนมาที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ที่ เบอร์โทร 096-8413644, 038-933905
Line ID : @318dthxs
Email:[email protected]

ยอมรับ และทำสุดกำลัง

ขออานิสงค์เกิดกับพวกเราทุกคน ยืดเวลาของการขาดแคลนออกไปเท่าที่ทำได้
อโรคยา ปรมาลาภา

นาวาเอกพรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์
ผู้อำนวยการกองสุขภาพจิต โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ และที่ปรึกษาทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี