โฆษกรัฐบาล ยัน ไม่ได้ปกปิด โรคระบาดในหมู พร้อม เยียวยาเกษตรกร

โฆษกรัฐบาล ยืนยัน ไม่ได้ปกปิด ข้อมูล โรคระบาดในหมู พร้อม จ่าย เงินเยียวยา เกษตรกร หากพบโรค

วันนี้ (9 ม.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เฝ้าติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคระบาดในสุกรหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน และได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งเสริมการปรับปรุงยกระดับฟาร์ม ให้ได้มาตรฐาน เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งการเยียวยาเจ้าของฟาร์ม ด้วยการจ่ายค่าเสียหายชดใช้ ตามจำนวนสุกรที่ถูกทำลาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

โดยนายธนกร ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน หลักวิชาการและมาตรฐานสากล หากพบการแพร่ระบาด จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งเตือนประเทศสมาชิกอื่น ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ได้ปกปิดข้อมูล และรายงานประชาชนตามความจริง ซึ่งกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดชุดเฉพาะกิจ ลงตรวจสอบโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมในพื้นที่ ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ทางเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน จะเข้าไปสำรวจโรค และเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร นำไปตรวจหาโรค โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยง และความเสี่ยงระดับฟาร์ม หากพบมีความเสี่ยงสูง ไม่สามารถปรับปรุงระบบการป้องกันโรคได้ จะทำลายสุกรเพื่อลดความเสี่ยง พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามราคาสุกรที่ถูกทำลาย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกร หากพบสัตว์ป่วย ต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฎหมาย เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรค PPRS เป็นกลุ่มอาการของโรค ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ แต่ยังไม่พบการเกิดโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร

สำหรับโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2464 ที่ทวีปแอฟริกา และลุกลามไปทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคได้ ซึ่งในประเทศจีน ได้มีการทำลายสุกรไม่น้อยกว่า 500 ล้านตัว ส่วนเวียดนาม สุกรเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และยังพบการระบาดในพม่า ลาว กัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตาม นายกฯ สั่งให้แก้ปัญหาโรคระบาดในหมูอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีนตัวต้นแบบ ที่ได้ผลการทดลอง ถึง 60-70% และกำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดให้หมูในห้องทดลอง หากสำเร็จ จะเป็นครั้งแรกของโลก

คลิปอีจันแนะนำ
เสียง มนตรี อดีตรปภ.หื่น รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น