ทำความรู้จัก “ไบโพลาร์” โรคอารมณ์สองขั้ว รู้ทันจัดการก่อน

คุณรู้จักมันดีแค่ไหน ทำความเข้าใจ “ไบโพลาร์” โรคอารมณ์สองขั้ว รู้ทันจัดการก่อน พร้อมตรวจสอบสภาพอารมณ์ด้วยตัวเองกัน

จากกรณีอาการป่วยของนักร้องแร็ปเปอร์ชื่อดัง UrboyTJ (ยูบอยทีเจ) ได้ออกมาโพสต์ขอโทษหลังโพสต์ค่ารักษาตัวเกือบล้าน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากภาวะซึมเศร้า-ไบโพลาร์? เลยอยากพาไปรู้จักโรคไบโพลาร์ โรคที่ผู้ป่วยมีความแปรปรวนของอารมณ์เด่นชัด

ทีเจ ตัดสินใจ พักงาน เดินหน้ารักษาอาการ ซึมเศร้า

โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) ?

ไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์สองแบบเปลี่ยนแปลงไปมาสลับกัน คือ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)

โรคไบโพลาร์ พบได้ราวร้อยละ 2-5 ของประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติบ่อยกว่าอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติเพียงอย่างเดียวก็ได้

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

ปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

  • พันธุกรรมที่ผิดปกติทั้งที่เกิดจากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและเกิดใหม่ช่วงเป็นทารกในครรภ์ เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ จะมีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป

  • อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และจากสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้โรคแสดงอาการ รวมถึงเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน

โดยกรมสุขภาพจิต เผยว่าผลกระทบที่พบในผู้ป่วยไบโพลาร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย การไม่สามารถใช้ชีวิต และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมไปถึงการทำร้ายตัวเอง และปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งในสถานการณ์และสถิติของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ของประเทศไทยในปี 2564 มีจำนวน 38,681 คน โดยเมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่า ลดลงร้อยละ 3 ซึ่งถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงแต่การเข้าถึงบริการกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจากที่เคยสามารถเข้าถึงบริการในปี 2563 จำนวน163,658 ครั้ง ในปี 2564 สามารถเข้าถึงบริการได้ถึง 164,170 ครั้งทีเดียว

แนวทางการวินิฉัย

แพทย์วินิจฉัยโรคไบโพลาร์ได้จากการซักประวัติและพูดคุยกับผู้ป่วยประกอบกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตด้วยแบบสอบถาม ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ป่วยและญาติจะช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วย ทราบว่าผู้ป่วยมีบุคคลในครอบครัวที่เจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ รวมถึงมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยาหรือสารบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอาการใกล้เคียงกันหรือไม่

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ขึ้น-ลงผิดปกติจากคนทั่วไปจนส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงมีความผิดปกติของการรับประทานและการนอนหลับร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นอาการของโรคไบโพลาร์หรือไม่

โดยเบื้องต้นก็ยังสามารถประเมินตนเองได้

>>>>> แบบประเมินสภาพอารมณ์ (ข้อมูลจาก โรงพยาบาลมนารมย์) ลองตรวจสอบตนเองกันเลย…โปรดตอบตามความเป็นจริงและตอบทุกข้อ

การรักษา

โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยแพทย์จะให้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมภายในเวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์

สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้สามารถจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียดลง อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึงร้อยละ 90 ดังนั้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีสำหรับผู้ที่เป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และอาจนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงของอาการในครั้งก่อนๆ

การปฏิบัติตัวระหว่างผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด

สำหรับผู้ป่วย ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ซึ่งได้แก่

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  • ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด

  • มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด ทำจิตใจให้สบาย

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง

  • หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น

  • แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบถึงอาการเริ่มแรกของโรค เพื่อให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์

สำหรับการปฏิบัติตัวของญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ได้แก่

  • เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของผู้ป่วย

  • ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • สังเกตุอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรคและรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น

  • ช่วยควบคุมเรื่องการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย

  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

ขอบคุณข้อมูล กรมสุขภาพจิต,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ,โรงพยาบาลมนารมย์,สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

คลิปอีจันแนะนำ
“แม่ตื่น” ปลุกแม่…คิดว่าแม่นอนหลับ