จากเหตุ สรพงษ์ ชาตรี กรมการแพทย์ แนะ มะเร็งสมอง รักษาได้ หากรู้ตัวไว

จากเหตุ สรพงษ์ ชาตรี กรมการแพทย์ แนะ มะเร็งสมอง แม้ปัจจุบันยังไม่มี วิธีการรักษาแบบเจาะจง รักษาได้ 3 วิธี หากรู้ตัวไว

“มะเร็งสมอง” ภัยเงียบ ที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะ

แต่สังเกตได้จากสัญญาณเหล่านี้ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว

จากเรื่องราวของ นักแสดงรุ่นใหญ่​ อย่าง​ เอก​ สรพงษ์​ ชาตรี​ ว่า​ ป่วย​ เป็น​ มะเร็ง​สมอง แต่มีอาการดีขึ้น หลังได้รับการรักษา ฉีดยาเพื่อบำรุงอย่างต่อเนื่อง เหล่าเพื่อนๆ ร่วมวงการ คอยส่งกำลังใจ ขอให้ สรพงษ์​ ชาตรี สู้กับโรคร้าย และหายโดยไวที่สุด

อัปเดตอาการ​ ป่วย สรพงษ์​ ชาตรี​ หลังเก็บเงียบรักษา​ มะเร็งสมอง​

ล่าสุด วันนี้ (16 ก.พ. 65) กรมการแพทย์ โพสต์ความรู้เบื้องต้น พร้อมแนะแนวทางการรักษา ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผย “เนื้องอกในสมอง” คือ เนื้อเยื่อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์สมอง หรือเนื้อเยื่อ และต่อมต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเนื้อสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท โดยอาการที่แสดงออกมานั้น ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งที่เกิด

ตัวอย่างเช่น มีอาการอ่อนแรงแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการชัก มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ และหากเนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่ หรือเกิดในตำแหน่งที่ส่งผลเพิ่มแรงดันในสมอง กดเบียด หรือรั้งเยื่อหุ้มสมอง อาจจะทำให้มีอาการปวดหัว อาเจียนได้

เนื้องอก แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้

1. เนื้องอก ที่เป็นเนื้อธรรมดา เป็น “เนื้องอก” ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ

แต่…เติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หาย หรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหลังการรักษาแล้ว

2. เนื้องอก ที่เป็นเนื้อร้าย เป็น “เนื้องอก” ที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ “เซลล์มะเร็ง” เริ่มแรกอาจเกิดที่บริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่น แล้วค่อยกระจายเข้าสู่สมองในภายหลัง

เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ควบคุมได้ยาก และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกหลังการรักษาแล้ว

โดย นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของเนื้องอกในสมองนั้น มีแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ เซลล์ที่มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตผิดปกติ จะทำให้เกิดการทำงานผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาจมีสาเหตุจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะส่วนอื่น ลุกลามโดยตรง หรือกระจายเข้าสู่สมองทางกระแสเลือดก็ได้

ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคเนื้องอกสมองแบบจำเพาะเจาะจง แต่พบว่า อายุที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับรังสีอันตรายและปริมาณสูงเข้าสู่ร่างกาย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเนื้องอกในสมอง เป็นสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกสมองได้

แนวทางการรักษาเนื้องอกสมองในปัจจุบัน มีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ

1. การผ่าตัด

2. ฉายรังสี

3. การให้ยาเคมีบำบัด

ซึ่งแพทย์จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย หากพบผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดเล็กมาก และไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ อาจจะเลือกวิธีติดตามอาการแทนการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น หากพบพบผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดใหญ่ขึ้น หรือทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท จึงค่อยเริ่มการรักษา

หากใครมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์